อีคอมเมิร์ซบี้หนัก “โฮมช็อปปิ้ง” “ทีวีไดเร็ค-ทรูซีเล็ค” งัดกลยุทธ์กู้ยอดคืน-

โฮมช็อปปิ้งหมื่นล้านสะเทือน เจอมรสุม 2 ลูกใหญ่ อีคอมเมิร์ซเบียดแย่งตลาด-ลูกค้ากระเป๋าแฟบ ทำใจปีนี้โตต่ำกว่าเป้า เจ้าตลาด “ทีวี ไดเร็ค” งัดไม้เด็ดสู้ศึกใหญ่ โปรยเม็ดเงินโฆษณาไม่ยั้ง ส่งสินค้าใหม่-พร้อมพัฒนาช่องทางขายทุกแพลตฟอร์ม ขณะที่ “ทรูซีเล็ค” เร่งปรับตัวขยายช่องทางสู่มาร์เก็ตเพลซ ชูสินค้า “สุขภาพ-ความงาม” ชิงส่วนแบ่งคืน ด้านน้องใหม่ “อาร์เอส” ไม่หวั่น เพราะมีสื่อในมือเพียบ-เร่งเครื่องเพิ่มทีมคอลเซ็นเตอร์เป็น 500 คน หวังอัพยอดขาย

กำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ สำหรับธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งที่มีมูลค่าตลาดกว่า 10,000 ล้านบาท ผลพวงจากการรุกคืบของผู้เล่นหน้าเก่าหน้าใหม่จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะมาร์เก็ตเพลซข้ามชาติที่ทุ่มงบฯอัดโปรโมชั่นแรงอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่ตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งไม่น้อย

แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแข่งขันของการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีดีกรีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากการเข้ารุกตลาดของมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่จากต่างประเทศ 2-3 ราย เช่น 11สตรีท ช้อปปี้ เป็นต้น ที่มีการทำตลาดอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะโปรโมชั่นการลดราคาที่ยอมทำแบบขายสินค้าต่ำกว่าทุน เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งทำให้กระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งและค้าปลีกรูปแบบเดิมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาร์เก็ตเพลซต่างออกโปรโมชั่นจูงใจนักช็อปมาต่อเนื่อง เช่น ช็อปปี้ ออกแคมเปญ ส่งฟรีทั่วไทย ลาซาด้าก็จัดแคมเปญ “ช็อปทะลุจักรวาล” ลดสูงสุด 90% ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2560 ส่วน 11สตรีท ก็จัดกิจกรรมแจกหลายต่อ ฉลองเทศกาลปลายปีด้วยคูปองส่วนลดคุ้ม

อีคอมเมิร์ซชิงตลาดโฮมช็อปปิ้ง

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลาดต่อเนื่อง ล่าสุด อาร์เอสก็ลงมาเล่นในธุรกิจนี้ ขณะที่ในแง่ของการแข่งขัน ธุรกิจนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งในตลาดเท่านั้น แต่ก็ยังมีผู้เล่นในตลาดค้าปลีกออนไลน์เข้ามาแข่งด้วย โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ทุ่มงบฯทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม อย่างหนักหน่วง เพื่อแย่งชิงลูกค้าและกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ บริษัทดังกล่าวยังสามารถแย่งมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งและธุรกิจค้าปลีกรูปแบบเดิมไปด้วย

ประกอบกับ จากปัจจัยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและส่งผลกระทบกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มลูกค้าของธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เป็นลูกค้าหลักของธุรกิจโฮมช็อปปิ้งที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่ดี และกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตและและสินเชื่อส่วนบุคคล ทำให้ภาพรวมกำลังซื้อปีนี้ไม่ดีเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน ก็มีผู้บริโภคบางส่วนหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น จึงคาดว่าการเติบโตในภาพรวมของทีวีโฮมช็อปปิ้งในปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีว่าจะโต 20% จากปีก่อนหรือมีมูลค่า 12,000 ล้านบาท

“สิ่งที่ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกำลังซื้อที่ลดลง อาทิ การนำสินค้าไซซ์เล็กเข้ามาทำตลาด การจัดเซตขายและเน้นความคุ้มค่าในราคาต่ำลง ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มจำนวนคนซื้อให้ได้ เพื่อให้ได้ยอดขายเท่าเดิม”

ไตรมาสสุดท้ายนี้ สำหรับบริษัทเองได้วางแผนการใช้สื่อโฆษณาผ่านช่องทีวีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อโปรโมตสินค้าไฮไลต์ เช่น แว่นตากันแดด Eagle Eyes, อุปกรณ์ไล่หนูและแมลงสาบ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งคาดว่าภาพรวมบริษัทปีนี้จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2559 ที่มีรายได้ประมาณ 3,400 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาทีวี ไดเร็คพัฒนาช่องทางขายมาต่อเนื่อง โดยมี 3 ช่องทางขายหลัก ได้แก่ 1.การขายสินค้ารูปแบบเดิม เช่น ขายผ่านทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี แค็ตตาล็อก เป็นต้น 2.ช่องทางผ่านออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ยูทูบ เป็นต้น และ 3.ขายผ่านร้านทีวี ไดเร็ค โชว์เคส

ทรูซีเล็คลุยขายบนมาร์เก็ตเพลซ

นายองอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูจีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง “ทรูซีเล็ค” และ “ทรูช้อปปิ้ง” กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือค้าปลีกออนไลน์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง และถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งของธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ด้วยการนำสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สุขภาพและความงาม ไปวางจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลซรายหลัก ๆ เช่น Shop At 24, Shopee, ลาซาด้า เป็นต้น เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนเมือง

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ทรูช้อปปิ้ง” รองรับพฤติกรรมนักช็อปกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ และคาดว่าอนาคตช่องทางขายผ่านออนไลน์จะมีสัดส่วนรายได้เป็น 1 ใน 3 ของรายได้รวมบริษัท

“ส่วนช่องทรูซีเล็ค จะเน้นจัดแพ็กสินค้าคุ้มค่า คุ้มราคา ชูจุดเด่น ซื้อหลายชิ้นในราคาถูกกว่า เจาะกลุ่มแม่บ้าน ผู้ชายที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งสินค้าขายดี 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าความงาม เสริมอาหาร และแฟชั่น ปัจจุบันมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาทต่อบิล สำหรับปีหน้าก็เตรียมจะนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และจะเน้นการขยายในช่องทางออนไลน์มากขึ้น”

RS ชูจุดแข็งมีสื่อในมือสปีดยอด

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจที่อาร์เอสวางไว้ เพราะมีศักยภาพการเติบโตที่ดีในอนาคต แม้ตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่อาร์เอสเชื่อว่า การมีสื่อในมือ ทั้งช่องทีวีดิจิทัล (ช่อง 8) และทีวีดาวเทียม 4 ช่อง จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้บริษัทขับเคลื่อนและสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้

ทิศทางธุรกิจปีหน้าจะมีการเพิ่มสินค้าเข้ามาทำตลาดอีกไม่น้อยกว่า 30 รายการ จากปัจจุบันที่มีสินค้าอยู่ในพอร์ต 40 รายการ และจะเน้นการพัฒนาช่องทางขาย การเพิ่มพนักงานคอลเซ็นเตอร์เป็น 500 คน จากปัจจุบัน 350 คน เพื่อกระตุ้นยอดขาย