เชื่อมโยงร่วมเรียนรู้ ซ่อมฝาย “สากอ” ด้วยแรงใจชุมชน-

ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นอกจากจะทำหน้าที่จัดการความรู้ และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

โดยมีกลยุทธ์หลักคือเชื่อมโยงร่วมเรียนรู้

และไม่เฉพาะแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วนเท่านั้น หากการเชื่อมโยงร่วมเรียนรู้ยังถูกนำไปปรับใช้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตร สร้างฝาย อนุรักษ์ ขุดสระน้ำ สร้างบ่อพวงในพื้นที่ภูเขาใหญ่ งานต่อท่อน้ำจากสระน้ำสู่แปลงเกษตร และการขุดลอกคลองต่าง ๆ

ซึ่งเหมือนกับไม่นานผ่านมา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯลงพื้นที่เพื่อไปดู และติดตามงานซ่อมแซมฝายสากอ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทั้งนั้นเพราะเมื่อปี 2557 ฝายสากอชำรุดเสียหายอย่างหนักจากเหตุอุทกภัย จนทำให้ชาวบ้านที่ทำนา 278 ไร่ ทำสวน 99 ราย และนาร้างที่น้ำไม่สามารถเข้าถึงอีก 268 ไร่ ไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย

ทั้ง ๆ ที่พื้นที่รับน้ำโดยรวมมีมากกว่า 1,976 ไร่ ครอบคลุมหลายหมู่บ้านด้วยกัน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนราชการต่าง ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ปกครองท้องที่ ผู้นำศาสนา และประชาชนในหมู่บ้าน จึงปรึกษาหารือกันเพื่อจะทำการซ่อมแซมฝายสากอ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนกลับมาทำการเกษตรได้ดังเดิม

จนที่สุด มูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงบริจาคเงินเบื้องต้นในการซ่อมแซมครั้งนี้ ประมาณ 10 ล้านบาท พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมาทำงานร่วมกับชุมชน และทางจังหวัด เพื่อนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นองค์ประกอบหลักในการซ่อมแซมฝายสากอครั้งนี้

เบื้องต้น “พาตีเมาะ สะดียามู” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส บอกว่า ปี 2557 มีสถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้น จนสร้างความเสียหายต่อฝายเดิมของที่นี่ จนทำให้ประชาชนในพื้นที่สูญเสียโอกาสในอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเยอะมาก ทั้งหมด 1,000 กว่าไร่ ไม่สามารถทำนา และทำสวนผลไม้ได้เลย ความเสียหายตั้งแต่ปีนั้นจนถึงปีนี้ ถ้าคำนวณเป็นเงินน่าจะไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาท

“จนทำให้ประชาชนต้องการที่อยากจะได้ฝายกลับคืนมา เพราะเขาเห็นปัญหาและความเดือดร้อนของเขา จนเกิดการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรดี และที่สุดทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯบริจาคเงินตั้งต้น 10 ล้านบาท เพื่อนำมาซ่อมแซมฝาย ทั้ง ๆ ที่งบประมาณจริง ๆ ในการซ่อมแซมฝายน่าจะอยู่ราว 20 ล้านบาท แต่กระนั้น ชุมชนและทางจังหวัดจะต้องเข้ามาช่วยด้วย โดยเฉพาะชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ใช้น้ำจากฝายสากอนี้ เพื่อให้พวกเขาเกิดการมีส่วนร่วมถึงจะเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน”

“สัญชัย เหสามี” กำนันตำบลสากอ กล่าวเสริมว่า เมื่อทางเราทราบเรื่อง จึงเรียกประชุมประชาคมหมู่บ้านทั้งหมดเพื่อให้ภาคประชาชนของเราในหมู่บ้านเข้ามาช่วยออกแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง พวกเราทั้ง 12 หมู่บ้านก็เลยเสียสละแรงงานเข้ามาช่วยกันสร้างฝาย หมู่บ้านละ 2 คน หมุนเวียนกันไปทุกวัน วันหนึ่ง ๆ ก็จะได้แรงงาน 24 คน/วันอย่างต่ำ นอกจากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ อาสาสมัครของอำเภอสุไหงปาดี ทหารพราน และตำรวจในพื้นที่ รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 50 คน/วัน มาช่วยกันซ่อมแซมฝาย

“เราทำงานร่วมกันกับทีมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะเขานำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในพื้นที่ด้วย จนทำให้งานซ่อมแซมฝายลุล่วงไปเร็วมาก ผมจึงต้องขอขอบคุณทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านใน 12 หมู่บ้าน ที่เสียสละกันมาช่วยซ่อมแซมฝายครั้งนี้ เพราะที่นี่ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ ฝนก็ตกแล้ว ตรงนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการทำงานของพวกเรา”

“หรือบางทีอยู่ในช่วงรอมฎอน พวกเราก็ต้องหยุดทำงาน 1 เดือน แต่เครื่องจักรยังขนดินและทำงานต่อ จนทำให้ผมรู้สึกภูมิใจที่ภาคราชการให้ความสำคัญต่อการซ่อมแซมฝายครั้งนี้มาก รวมถึงชุมชนไทยพุทธจากสุไหงปาดีก็เข้ามาช่วยพวกเรา เพราะนอกจากฝายนี้จะช่วยให้พวกเรากลับมาประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม อีกเป้าหมายอย่างหนึ่ง เราตั้งใจซ่อมแซมฝายครั้งนี้เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย พวกเราจึงยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ฝายเสร็จโดยเร็ว”

“สุเมธ กิติบุญญา” หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างและซ่อมบำรุง กองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ผมเข้ามาหลังจากที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้ามาดำเนินการก่อนแล้ว อีกอย่างฝายแห่งนี้อายุ 30 กว่าปี ก็เกิดชำรุดมาก่อนหน้าแล้ว ฝั่งซ้ายชำรุดไป 40 เซนติเมตร การซ่อมแซมจึงยากกว่าการสร้าง แต่เมื่อโครงการนี้ผ่านการทำประชาคมแล้ว เราก็เลยเข้ามาช่วย โดยมีชาวบ้านเป็นลูกทีมทำงานไปด้วยกัน

“แรก ๆ เต็มไปด้วยปัญหามากมาย เพราะน้ำเซาะถนนขาดหลายเส้น จริง ๆ หน้าฝายควรจะเก็บน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 60 เมตร ปรากฏว่าเก็บไม่ได้เลย ตลิ่งพังหมด ผมจึงต้องสอนวิธีการซ่อมแซมฝายทุกวัน เพราะชาวบ้านเขาหมุนเวียนเปลี่ยนชุดมาทุกวัน เราจึงต้องนำหลักวิชาการของทางกรมชลประทาน ศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และองค์ความรู้แบบปราชญ์ชาวบ้านมากองรวมกัน เพื่อซ่อมฝายสากอให้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุด และที่สุดก็สำเร็จเรียบร้อย”

จึงนับเป็นฝายสากอที่เกิดขึ้นจากการรวมน้ำใจของหลายภาคส่วน และที่สุดฝายน้ำแห่งนี้ก็กลับมาให้ชีวิตชาวบ้านมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง


จนประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ดังเดิม