10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี’61 ผู้ประกอบการปรับตัวรับยุคไอทีเต็มรูปแบบ-

หอการค้าไทยได้เผยแพร่รายงานการสำรวจ “ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงประจำปี 2561” ซึ่งเป็นผลสำรวจต่อเนื่องนับเป็นปีที่ 7 โดยในปีนี้พบว่า ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์-ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม-ธุรกิจ e-Commerce ยังคงเป็นธุรกิจเด่นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจดาวร่วง จะเป็น ธุรกิจหัตถกรรม-ธุรกิจด้านการผลิตเหมือนแร่-ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารและวารสาร และธุรกิจเช่าหนังสือ ที่ล้มหายไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แจงเกณฑ์การสำรวจ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเกณฑ์การวัดและการสำรวจกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงว่า จะพิจารณาจากข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลด้านการนำเข้าและส่งออกสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต, ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ตารางปัจจัยการผลิต I-O table ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประกอบกับข้อมูลปฐมภูมิจากการสำรวจของ “หอการค้าโพลล์” เช่น ผลการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา, ผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทย, ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แล้วนำมาประกอบการพิจารณาและให้คะแนน โดยเกณฑ์ให้คะแนน หอการค้าไทยจะให้คะแนนจากยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน (กำไรสุทธิ) ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน และความต้องการความสอดคล้องกับกระแสนิยมรวม 100 คะแนน

แต่ทั้งนี้ก็อยู่ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่มีผลต่อธุรกิจ โดยประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจในปี 2561 ที่ว่า เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 4.2% ซึ่งยังมองว่า เศรษฐกิจยังคงขยายตัวไปได้ในทิศทางที่ดี ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น การลงทุนของภาครัฐยังต่อเนื่อง การท่องเที่ยวขยายตัว การเลือกตั้ง แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ส่วนการส่งออกประเมินจากตัวเลขการขยายตัวอยู่ที่ 4.3% ผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีการปรับตัวอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.6% ขณะที่ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 อยู่ที่ 3.9% การส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 7.5% อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ 0.6% ที่มีผลต่อการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่บั่นทอนต่อการประกอบธุรกิจที่เป็นปัจจัยกระทบต่อธุรกิจให้ดาวรุ่ง หรือดาวร่วง เช่น เศรษฐกิจของสหรัฐ ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ หนี้สินครัวเรือนและหนี้เสียของเอสเอ็มอี ทำให้สถาบันทางการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในกานพิจารณาสินเชื่อ มาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับข้อตกลงเสรีการค้าอาเซียน-จีน ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าจีนกว่า 703 รายการ ภาษีเป็น 0% ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนส่งออกมากขึ้น

10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง

สำหรับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2561 ใน 10 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย), ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม, ธุรกิจ e-Commerce, ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว, ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก-ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์, ธุรกิจ Modern Trade-ธุรกิจบริการทางด้านการเงิน-ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์, ธุรกิจด้านการศึกษา-ธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านท่องเที่ยว, ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต-ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบ้านเช่าหรือห้องเช่า-ธุรกิจด้านความเชื่อ (โหราศาสตร์ เครื่องรางของคลัง), ธุรกิจวัสดุด้านก่อสร้างและรับเหมา และธุรกิจร้านเสริมสวย/ตัดผมแนวแฟชั่น

ขณะที่ธุรกิจดาวร่วง 10 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจหัตถกรรม, ธุรกิจด้านการผลิตเหมืองแร่, สื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารและวารสาร/ธุรกิจการเช่าหนังสือ, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเล่น DVD-CD-ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายแผ่น CD-DVD-ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจเคเบิลทีวี, ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรยาง-ปาล์ม-ข้าว, ธุรกิจร้านขายมือถือมือสอง, ธุรกิจร้านค้าดั้งเดิม และธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หากธุรกิจไม่มีการปรับตัวไปตามเทรนด์ที่กำลังมาในปี 2561 ซึ่งจะเป็นการก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล “การประกอบธุรกิจก็จะลำบากมากขึ้น” โดยเทรนด์การประกอบธุรกิจหรือธุรกิจดาวรุ่งในปี 2561 ซึ่งเข้ามาเป็นธุรกิจดาวรุ่งครั้งแรกก็คือ ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย) กับธุรกิจความงาม ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 ติดต่อมา 5 ปีซ้อน แต่ครั้งนี้ได้ตกอันดับลง เนื่องจากเทรนด์การประกอบธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

“ในปี 2561 จะเป็นยุคไอทีเต็มรูปแบบที่จะส่งผลต่อระบบการค้า การประกอบธุรกิจ ที่จะหันมานำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญ การค้ารูปแบบ e-Commerce จะยิ่งได้รับความนิยม ขณะที่ธุรกิจกลุ่มอื่นก็จะยังดีต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยว การก่อสร้าง ซึ่งหากไม่มีการปรับเทรนด์หรือปรับเปลี่ยนของการประกอบธุรกิจให้ทันสมัย หรือตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการก็อาจจะลำบาก อย่างไรก็ดี กรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้อยู่ที่ 4.2-4.5% นั้นจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดช่วงปลายไตรมาส 2 ด้านการส่งออก-การท่องเที่ยวก็ยังดีต่อเนื่อง เห็นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ขณะที่สินค้าเกษตรยังคงทรงตัวและเห็นผลชัดเจนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในปี 2561” นายธนวรรธน์กล่าว