ฟื้นสัมพันธ์อียูต้องลดกีดกันการค้า-

บทบรรณาธิการ

กระแสข่าวคณะรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ 14 ข้อ ฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลไทย แม้จะเป็นข่าวดี แต่ไทยไม่ควรเร่งรีบเจรจาโดยพุ่งเป้าเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา ที่อียูลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลง หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 อียูใช้วิธีเร่งรัดกดดันด้วยการหยิบยกมาตรการกีดกันทางการค้า ปิดกั้นสินค้าส่งออกไทยหลากหลายชนิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันทางการค้าด้วยการนำประเด็นด้านสุขอนามัย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม มากำหนดเป็นเงื่อนไขในลักษณะที่เข้มงวด เข้มข้น โดยไม่ยอมรับฟังเหตุผล ข้อเท็จจริง ที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสมาคมองค์กรภาคเอกชนพยายามอธิบายชี้แจง

อย่างกรณี การทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ซึ่งล่าสุด ไทยยังอยู่ในสถานะที่อียูยังคงใบเหลือง เตือนให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวทางที่อียูกำหนด

และแม้ไทยจะดำเนินการหลายมาตรการทั้งออกกฎหมายใหม่ กวดขันจับกุมการทำประมงที่่ฝ่าฝืนกฎอย่างเข้มงวด จนส่งผลกระทบภาคการประมงกับธุรกิจต่อเนื่องรุนแรง แต่อียูก็ยังไม่ยอมคลายล็อกให้

เช่นเดียวกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป-ไทย (EU-Thailand Free Trade Agreement) การลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement-PCA) และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับไทย ที่หยุดชะงักมานาน

ขณะเดียวกันหลายปีที่ผ่านมา นอกจากถูกกีดกันทางการค้าแล้ว อียูยังเรียกร้องกดดันให้ไทยปรับเปลี่ยนกฎกติกาการเมือง การปกครอง นำไปสู่การเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ

แถลงการณ์ฟื้นความสัมพันธ์ 14 ข้อล่าสุดแม้จะสอดคล้องกับโรดแมปของภาครัฐ แต่แทนที่จะมุ่งตอบสนองข้อเรียกร้องของอียูเพียงถ่ายเดียว รัฐบาลน่าจะทำเพื่อรักษาคำมั่น เสริมสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศมากกว่า

ที่สำคัญนอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองแล้ว การเจรจาด้านการค้า การลงทุน ที่ยังเป็นอุปสรรค ปัญหากับผู้ประกอบการไทย สินค้าส่งออกไทย เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากับอียูด้วยความรัดกุมรอบคอบ

โดยหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือเพื่อหาทางออก โดยยึดผลประโยชน์ประเทศชาติและส่วนรวมเป็นหลัก สำคัญที่สุดคือต้องไม่เสียเปรียบหรือตกเป็นเบี้ยล่าง