“เทคมีทัวร์” ปั้นโมเดล “เพื่อนนำเที่ยว” มัดใจนักท่องเที่ยว-

สัมภาษณ์พิเศษ

เปิดให้บริการมากว่า 2 ปีแล้ว สำหรับแพลตฟอร์ม “เทคมีทัวร์” (TakeMetour) ที่นำเสนอบริการนำเที่ยวรองรับความต้องการเฉพาะบุคคล สอดรับกับเทรนด์โลกที่ทุกอย่างจะ personalize หรือทำให้เป็นส่วนบุคคลมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นพพล อนุกูลวิทยา” ผู้ร่วมก่อตั้งเทคมีทัวร์ เกี่ยวกับจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ รวมถึงภาพรวมการเติบโต และทิศทางการขยายธุรกิจในอนาคตไว้ดังนี้

“นพพล” บอกว่า “เทคมีทัวร์” คือ แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้นำเที่ยวในพื้นที่ ผ่านแนวคิดการพาไปสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเข้าถึงท่องถิ่น หรือ “local experience” เป็นธุรกิจกึ่งออนไลน์แบบ C2C (Customer to Customer) ที่มีรายได้หลักจากการเก็บค่าธรรมเนียมการจองทัวร์จากลูกค้า

โดยแพ็กเกจที่มีการเสนอขายในเทคมีทัวร์ หลัก ๆ จะเป็นวันเดย์ทัวร์ (one day tour) นำเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ

นพพล อนุกูลวิทยา

ชูคอนเซ็ปต์ “เพื่อนนำเที่ยว”

“จุดเริ่มต้นของเทคมีทัวร์นั้นเกิดจากที่ตัวเองเป็นคนชอบเที่ยวมาก ๆ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็จะให้เพื่อนพาไปเที่ยวในจุดต่าง ๆ แล้วเล่าเกร็ดน่าสนใจให้ฟัง เรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจจากสถานการณ์จริงว่า การมีเพื่อนพาเที่ยวในที่ที่เขาคุ้นเคยสนุกกว่าเราไปเที่ยวเอง เราได้อะไรมากกว่าการไปถึง ไม่ใช่แค่ชิม ช็อป แชะ อย่างที่เคยทำกัน เพราะการมีเพื่อนคอยเล่าให้ฟังนั้น มันช่วยให้เราซึมซับ รู้จักเมืองนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น และได้เรียนรู้ เชื่อมโยงคนในท้องถิ่นด้วย”

พร้อมทั้งเปรียบตัวเองว่า เหมือน “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” เข้ามาในธุรกิจนี้เพราะความชอบล้วน ๆ จากที่ก่อนหน้านี้ได้พัฒนาธุรกิจบนหน้า “เฟซบุ๊ก” ให้นักท่องเที่ยวไทย และคนนำเที่ยวในต่างประเทศ แต่ละพื้นที่ให้มาเจอกันกระทั่งพบว่ามีข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารมากพอสมควร จึงพลิกมุมทำธุรกิจ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหลักมาเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทย และคนไทยที่เป็นผู้นำเที่ยวแทน หลังเห็นขนาดตลาดท่องเที่ยวไทยซึ่งใหญ่มาก

“ความเป็นเด็กในตอนนั้นทำให้เราอยากทำอะไรที่ให้คนใช้งานได้ง่าย จึงหาคนมาช่วยเขียนโปรแกรมพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา และเปลี่ยนโฟกัสมาดึงชาวต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทย และมาใช้แพลตฟอร์มของเราเพื่อหาคนนำเที่ยว”

“นพพล” บอกอีกว่า ทุกวันนี้แพ็กเกจนำเที่ยวที่เสนอขายผ่าน “เทคมีทัวร์” มีหลากหลายแนวมาก โดยได้ย้อนถามตัวเองด้วยว่า แท้จริงแล้ว “ความเป็นไทย” คืออะไรกันแน่ ซึ่งก็จับได้ว่าไม่ใช่แค่ทัวร์ตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เราเห็นกันจนชินตา แต่เป็น “วิธีคิด” แบบคนไทยต่างหาก

เช่น ศาลพระภูมิ นักท่องเที่ยวมักสงสัยว่าเป็นบ้านใคร บ้านแมวหรือเปล่า หรือเรื่องอาหารตามสั่ง ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบคนไทยเท่านั้น มีหลากหลายเมนูให้เลือก คนนำเที่ยวสามารถหยิบความหลากหลายภายใต้ร่ม “ความเป็นไทย” เหล่านี้ไปเล่าให้นักท่องเที่ยวฟังได้ เพราะเป็นหัวข้อที่เขาชอบและสนใจ

จับกลุ่มพักโรงแรม 3-5 ดาว

“กว่าจะเซตอัพภาพและทิศทางธุรกิจในหัวขึ้นมาได้ต้องผ่านการลองผิดลองถูก นี่คือหนึ่งในวิธีการของสตาร์ตอัพ ช่วงแรก ๆ เราเคยยิงโฆษณาไปถี่ยิบมาก เพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มแบกเป้ หรือแบ็กแพ็กเกอร์ ซึ่งนิยมเข้าพักย่านถนนข้าวสาร แต่ผลตอบรับกลับไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เลยเสียค่าหน่วยกิตในการเรียนรู้แพงไปหน่อย”

หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนวิธีการ โดยหันมาส่งอีเมล์ถามนักท่องเที่ยวที่เคยใช้บริการเทคมีทัวร์ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีกำลังจับจ่ายด้านท่องเที่ยวดีมาก พักโรงแรม 3-5 ดาว เช่น เลอบัว บันยันทรี และบูติคโฮเต็ล ใช้จ่ายเฉพาะค่าที่พักไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อวัน

ขณะที่กลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์นั้นจ่ายค่าเตียงในโฮสเทลที่ 400 บาทต่อวัน จากผลที่ได้นี้สะท้อนได้ชัดเจนว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้วิธีการทุ่มโฆษณาถี่ยิบ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ได้ผล

แพ็กเกจเฉลี่ย 3 พันบาท/คน

ผู้บริหารหนุ่มเทคมีทัวร์ยังบอกด้วยว่า นับตั้งแต่เทคมีทัวร์เปิดให้บริการมาถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีกว่า พบว่าปีแรกไม่ค่อยมีธุรกรรมซื้อขายแพ็กเกจนำเที่ยวเลย แต่ปีล่าสุดพบว่ามีการเติบโตทุกเดือน เดือนละ 50% เฉลี่ยเดือนละ 700 แพ็กเกจ ซึ่งครอบคลุมทั้งวันเดย์ทัวร์ และไพรเวตทัวร์ จากจำนวนคนที่เข้ามาเสนอบริการนำเที่ยวในเทคมีทัวร์กว่า 2 หมื่นคน

โดยส่วนใหญ่เสนอขายทัวร์พาไปชิมอาหารที่ถนนเยาวราช, พาไปชิมอาหารฝีมืออาม่าที่บ้าน, พาไปทำงานอดิเรกด้วยกัน, พาไปชมทุ่งดอกทานตะวัน เป็นต้น และมีให้เห็นตั้งแต่ราคา 500-7,000 บาทต่อคน แต่ราคานำเที่ยวที่คนซื้อกันมากนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน

เล็งขยายแพลตฟอร์มไป ตปท.

จากกระแสการตอบรับที่ดีนี้ ทำให้คาดว่าปี 2560 นี้ เทคมีทัวร์จะมีเงินสะพัดบนแพลตฟอร์มกว่า 25 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าในปี 2561 น่าจะเติบโตได้อีกมาก โดยตั้งเป้าเห็นตัวเลขโตที่ราว 50% ในทุกเดือน

“นพพล” ยังแจกแจงด้วยว่า ปัจจุบันโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเทคมีทัวร์นั้น กลุ่มใหญ่สุดเป็นนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนที่ 30 รองลงมาเป็น สิงคโปร์ 20% มาเลเซีย 10% และยุโรป 10%

ส่วนกลุ่มคนจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 ยังมีอุปสรรคเรื่องภาษา ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามทำตลาดจีนเช่นกัน แต่ยังหาสูตรที่ลงตัวไม่เจอ จึงเจาะตลาดชาวจีนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ อยู่ถึงราว 60% ส่วนอีก 40% เป็นพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดรวม 50 เมืองทั่วไทย


โดยภารกิจของ “เทคมีทัวร์” ในขณะนี้คือ กระจายรายได้ไปยังนอกกรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวว่า มีสิ่งดี ๆ อยู่ทั่วประเทศไทยอีกมาก พร้อมทั้งขยายธุรกิจไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศอื่น ๆ ที่มีพื้นฐานและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงด้วย