จดหมายแห่งอนาคต (24) คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ และ “กับดัก” แห่งยุคดิจิทัล-

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

พ่อขอเล่าเรื่องที่คอยเตือนใจและให้ข้อคิดพ่อทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงในองค์กร รวมทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้พัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์

ครั้งหนึ่ง พ่อไปร้านตัดเสื้อเพื่อตัดสูทที่ร้านเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีช่างสองคน เป็นพ่อลูกช่วยกันทำ ลูกชายจะเป็นคนทำเป็นหลัก เช่น เข้ามาวัดตัว ใส่หมุด ขีดเส้น ถามเราต่าง ๆ นานา เก็บข้อมูล แล้วยังสามารถเอาข้อมูลใส่คอมพิวเตอร์ให้ออกมาเห็นเป็นแบบให้ดูได้ พ่อรู้สึกถูกโฉลกกับช่างตัดเสื้อที่เป็นลูกชายคนนี้เพราะทำงานเป็นระบบดี ข้อมูลแน่น อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจด้วย ส่วนคนพ่อเหมือนจะวางมือแล้วหน่อย ๆ ยืนดูเงียบ ๆ ไม่พูดอะไรเท่าไหร่ ทำหน้าเหมือนจะมีคำถาม แต่ก็ไม่พูด

ไม่กี่วันผ่านไป พ่อกลับมาลองชุดแบบเป็นโครง ปรากฏว่าใส่ได้ แต่เหมือนไม่ค่อยพอดีเท่าไหร่ ตรงบ่าดูจะมีพับ ๆ เป็นรอย ช่างคนลูกจึงกลับมาวัดตัวให้อีกครั้ง ขีดเส้นต่าง ๆ กลัดหมุดตามจุด แล้วลองเอาไปทำใหม่ แต่ก็ยังปรากฏว่าเสื้อนอกตัวนี้ยังใส่ได้ไม่พอดี ทันใดนั้นช่างคนพ่อจึงเดินเข้ามา แล้วบอกว่า “ขอดูหน่อยสิ” แล้วเขาก็มาจับบ่าพ่อทั้งสองข้าง บีบทีสองที แล้วจึงหันมาบอกว่า “คุณบ่าทรุดนะ สองข้างไม่เท่ากัน” จึงเป็นเหตุให้เสื้อนอกเบี้ยว ไม่ลงตัวเสียที ซึ่งพ่อเองก็ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ตอนแรกคนลูกยังดูไม่ค่อยเชื่อ พยายามจะวัดตัวใหม่ แต่พอแก้ตรงจุดที่ช่างคนพ่อบอก เสื้อสูทก็ออกมาดี สวยงามแบบในรูป ซ่อนความบ่าเบี้ยวของพ่อได้อย่างดี

จากการพูดคุยกับพนักงานในร้านต่อ พ่อจึงได้รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ช่างตัดเสื้อคนลูกเป็นคนเก่งมาก ตัดเสื้อผ้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำกว่าสมัยคนพ่อ เป็นที่ถูกใจลูกค้า แต่ก็จะมีบางครั้งที่เหมือนคราวนี้ คือ วัดเท่าไหร่ ใช้ข้อมูลเท่าไหร่ ก็ยังทำไม่ได้เรียบร้อย แก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนคุณพ่อเหมือนจะแค่ดูด้วยตาเปล่า เดินวนทีสองที มองขึ้นมองลง แล้วก็แก้ปัญหาได้ทันที

เรื่องนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ได้ให้ บทเรียนสำคัญ เตือนใจพ่อทุกครั้งเกี่ยวกับ “กับดัก” ที่หลายองค์กรมักต้องผจญอยู่ในการทำ digital transformation หรือการปรับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาคธุรกิจ รัฐและเอกชน ให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อนำเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ (จะเป็น big data หรือไม่ก็แล้วแต่) มาใช้ปรับยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินการขององค์กร

เมื่อไม่นานมานี้ พ่อได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 30 คนของ Asia 21 Young Leader หรือ ผู้นำรุ่นอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่ง Asia Society ได้ทำการคัดเลือกมาจากทั่วเอเชีย และหนึ่งในหัวข้อที่ผู้นำรุ่นใหม่นำมาถกกันก็คือ เรื่อง digi-tal transformation นี้

ผู้ที่เข้าร่วมเสวนากันมาจากหลายวงการ ทั้งที่เป็น disruptor ทั้งถูก disrupt ทั้งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริงกับตัวเองที่ต้องพยายามปรับทีมในองค์กรใหญ่ ให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ บางคนมีบริษัทให้คำปรึกษาในการช่วยองค์กรปรับตัว โดยนำเทคนิค เช่น design thinking และ system thinking เข้ามาช่วย และมีผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่ทำหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐ มีทั้งทางภาคประชาชน และสื่อ เข้าร่วมในการเสวนา

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทุกคนต่างมีความเห็นคล้ายกันว่า การทำ digital transformation หลายครั้งมาก ที่ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า แม้จะใช้เงินลงทุนไปมหาศาล โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ล้มเหลว คือ ข้อคิดที่พ่อได้จากเรื่องคนตัดเสื้อสองพ่อลูกนี่เอง

ข้อแรก ช่องว่างระหว่างรุ่น คือ กำแพงขนาดยักษ์

จากประสบการณ์ที่พ่อเคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม มักจะมี “ช่องว่างระหว่างรุ่น” (intergenerational gap) ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คนรุ่นเด็กจะคุ้นเคยคล่องแคล่วกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และชอบใช้ data บวกกับหลักวิชาที่เรียนมา และมักเป็นขุมทรัพย์ของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ แต่ทว่า หลายครั้งเทคโนโลยีและวิธีการใหม่นี้กลับไม่สามารถถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะคนที่เป็นนายซึ่งมักจะเป็นรุ่นใหญ่เหยียบเบรก ไม่ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ เท่าที่พ่อสังเกต ทางผู้ใหญ่มักจะมีหลายเหตุผลที่ทำเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่คุ้นเคยและไม่แน่ใจ ถึงความเสี่ยงของวิธีการใหม่ว่าจะดีกับองค์กรจริงหรือไม่ เช่น ในเรื่องเล่านี้ ช่างคนพ่ออาจจะยังไม่เชื่อว่าการวัดตัวอย่างละเอียด แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลขึ้นมานั้น จะแม่นยำถูกต้องกว่าสายตาของตน แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่มีคนพูดกันเสมอก็คือ ผู้ใหญ่อาจไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวที่จะต้องก้าวไปสู่โลกใหม่ ที่ความสามารถที่ตนสะสมมาอาจจะใช้ไม่ได้ หรือสุดท้ายตัวเองก็จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ครั้นจะกลับไปศึกษาเพิ่มเติมใหม่ก็รู้สึกว่าอายุมากไป เลยรอให้เวลาผ่านไปจนตัวเองรีไทร์ ซึ่งหากเป็นในรูปแบบหลังนี้ องค์กรจะเปลี่ยนได้ยากและมีผลลบ ทำให้ลูกน้องที่เก่ง ๆ ไม่อยากอยู่เช่นกัน

ข้อสอง รุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ต้องจับมือกัน

องค์กรจะมีประสิทธิภาพสูงสุด หากสามารถทำให้คนรุ่นใหญ่และรุ่นเด็กทำงานร่วมกันได้ จริงอยู่ว่าหลายครั้งคนรุ่นใหม่ไฟแรงอาจคิดว่า ความรู้ของคนรุ่นใหญ่นั้นล้าสมัย และถ่วงองค์กรไม่ให้เดินไปข้างหน้า จนบ่อยครั้ง พ่อได้ยินรุ่นเด็กบอกว่า อยากให้รุ่นผู้ใหญ่หลีกทางไป ไม่ขวางการเดินไปข้างหน้า แต่ความคิดแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน เพราะอาจทำให้คนรุ่นเด็กนั้นประมาท และไม่ฟังความคิดต่างมุมที่มาจากรุ่นอื่น

สิ่งที่พ่อเพิ่งจะเข้าใจมากขึ้นก็คือ คนรุ่นใหญ่ (บางท่าน) ไม่ใช่ว่าเขาไม่ใช้ และไม่สนใจ data เพียงแต่ว่า data ของท่านเหล่านั้นถูกบันทึกลงไปในรูปแบบที่ไม่เหมือนกับที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคย คือ บันทึกลงไปในหัว และกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์” หรือ “ความเก๋า” ที่เกิดจากการสะสมมาเป็นเวลายาวนาน

ซึ่งในบางสถานการณ์ “data” ประเภทนี้ก็มีประโยชน์ได้ เหมือนอย่างที่ช่างตัดเสื้อคนพ่อเห็นบ่าของพ่อปราดเดียวก็รู้ถึงปัญหา ทำให้พ่อนึกถึงคำพูดหนึ่งที่พ่อชอบมากของ นายวิลเลียม บรู๊ซ คาเมรอน นักสังคมศาสตร์ 50 ปีที่แล้ว คือ “Not everything that can be counted counts, and not everything that counts can be counted.” (ทุกสิ่งที่นับได้ไม่ใช่ว่าจะสำคัญ และหลายสิ่งที่สำคัญอาจนับไม่ได้) หากเราจะเอาแต่ทิ้งคนรุ่นก่อนไว้ข้างหลัง เราก็อาจเสีย “data” และองค์ความรู้ที่สำคัญไปส่วนหนึ่ง

ข้อสุดท้าย “คนรุ่นกลาง” อาจเป็นสะพาน

ในเรื่องนี้ คนตัดเสื้อทั้งสองรุ่นเป็นพ่อลูกกัน และพ่อก็ปล่อยให้ลูกจัดการเป็นหลัก ส่วนลูกก็ดูฟังและเคารพพ่อ แต่ในความเป็นจริง หลายองค์กรมักไม่โชคดีเช่นนี้ ช่องว่างระหว่างรุ่นอาจทำให้คนในองค์กรเดียวกัน เหมือนจะพูดกันคนละภาษา มาจากคนละวัฒนธรรม เกิดความขัดแย้งขึ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างมองว่า อีกฝ่ายเป็นตัวถ่วง หรือตัวสร้างปัญหา เพราะฉะนั้น ในบางครั้งบทบาทของคนรุ่นกลางที่อยู่ระหว่างรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ จึงมีความสำคัญมากในการเป็น สะพานเชื่อมต่อ ช่องว่างระหว่างรุ่น

ในวันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ พ่อก็จัดอยู่ในคนรุ่นกลางนี้เช่นกัน คือ ไม่ได้เกิดมาในยุคดิจิทัล (not born digital) แต่โตมากับยุคดิจิทัล และเข้าใจทั้ง “data” ของคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นดิจิทัล คนกลุ่มนี้จึงมีส่วนสำคัญในการเป็น “ล่าม” แปล “ภาษา” ให้กับคนทั้งสองรุ่น และช่วยผลักดันให้เกิด digital transformation ในองค์กรต่าง ๆ ได้

หัวใจคือ “คน” ไม่ใช่เทคโนโลยี

ส่วนที่สำคัญที่สุดของ digital transformation ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือ human capital transformation หรือการปรับ “คน” ที่อยู่ในองค์กร และหลายครั้งที่ปัญหา คือ ช่องว่างระหว่างรุ่น ระหว่างคนที่เกิดมาคลุกคลีกับเทคโนโลยีวันนี้ กับผู้ที่รู้สึกว่าอนาคตนั้นมาถึงเร็วเกินไป

ดังนั้น ทางรอดจากกับดักแห่งยุคดิจิทัล คือ ไม่ใช่ใช้อำนาจผู้ใหญ่ปิดทางจนคนรุ่นใหม่หมดไฟ ถอดใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทิ้งคนรุ่นใหญ่ไว้ข้างหลังทั้งหมด เพราะหลายท่านก็มี data ที่ล้ำค่า ที่เรียกว่า “ประสบการณ์” แต่ต้องหาทางทำให้ทั้งสองส่วนทำงานด้วยกันได้ โดยบางครั้งอาจต้องให้คนรุ่นกลางมาช่วยเป็นสะพาน

ในวันที่ลูกอ่านจดหมายนี้ พ่อคงกลายเป็นรุ่นใหญ่ที่ตกยุคเทคโนโลยีรุ่นลูกไปแล้ว แต่พ่อก็หวังว่าเราจะเหมือนพ่อลูกคนตัดเสื้อในเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟังกัน คือ เชื่อใจกัน และใช้องค์ความรู้ที่เราต่างมี มาทำงานร่วมกัน


ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน หรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรก็ตาม