วินนิ่งโปรเจ็กต์ 5 ภาค ดึงอัตลักษณ์ชุมชนพลิกโฉม ศก.ท้องถิ่น-

ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับบทบาทที่เพิ่มขึ้น คือ การช่วยเหลือกลุ่มฐานราก ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์การเกษตร ท่องเที่ยวชุมชน และวิสาหกิจชุมชน โดยเน้นสิ่งที่หอการค้ามีความถนัด เช่น การวางแผนโครงการ ให้คำแนะนำด้านการขาย การตลาด เป็นต้น

การร่วมมือนี้นำไปสู่การพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการสำคัญ หรือ winning project ที่บางโครงการเริ่มขยับไปบ้างแล้ว และอีกหลายโครงการที่จัดเรียงความสำคัญรอไว้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

โดยหน้าที่หลักของหอการค้า คือ ต้องขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และเป้าหมาย คือ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เติบโตทั่วถึงทุกภาคส่วนทั้งประเทศ ถือเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น หรือ local economy

ภาคเหนือดันกีฬานำท่องเที่ยว

นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเหนือจะขายศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติ ล่าสุดภาคเหนือตั้งเป้าเป็นสปอร์ตทัวริซึ่ม หรือการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ภายใต้โครงการ “ไทยเท่ นอร์ท ลีค” โดยมีคอนเซ็ปต์ คือ “วิ่ง เที่ยว นอน ช็อป ชิม แชร์” เป็นการร่วมมือของทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ แนวคิด คือ ใช้กีฬาสร้างงาน ดึงคนและเม็ดเงินเข้าเมือง พร้อมกับนำอัตลักษณ์สู่สากล โดยภาคเหนือจะดำเนินการภายใน 2 ปี คาดว่าจะช่วยกระจายเศรษฐกิจได้อย่างมาก

โดยการท่องเที่ยวเชิงกีฬา มีการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ วิ่ง (บนถนน) วิ่งเทรล (ในป่า ชนบท) และปั่นจักรยาน

สำหรับวิ่ง ได้กำหนดระยะฮาล์ฟมาราธอน คือ 21 กิโลเมตร นำร่อง 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน สวนสาธารณะหนองจองคำ ต.จองคำ อ.เมืองเชียงใหม่ จากอุทยานแห่งชาติราชพฤกษ์ ไปสนามกีฬา 700 ปี กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมือง และอุทัยธานี ลานสุพรรณิการ์ หน้าศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง

การวิ่งเทรล เป็นการออกกำลังกายที่ได้สัมผัสธรรมชาติ ผ่านป่า ยอดเขา ทะเลหมอก นำร่อง 2 จังหวัด คือ ลำพูน อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และน่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ส่วนปั่นจักรยานมี 4 ทัวร์นาเมนต์ 1.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน 2.เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ 3.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และ 4.กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี

ภาคตะวันออกมุ่งพัฒนาเกษตร

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาคตะวันออกมีภารกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงการอีอีซีที่ถือเป็นหัวใจของภาคตะวันออก แต่วันนี้เราต้องพาทุกคนไปด้วยกัน และส่วนที่ต้องออกแรงมากที่สุด คือ เกษตร หอการค้าจึงให้ความสำคัญมาก

“โครงการมหานครผลไม้เราปั้นจากศูนย์ ปัจจุบันรู้จักทั่วประเทศ แต่เราไม่ยุติแค่นั้น เพราะแต่ละโครงการจำเป็นต้องมีโมเมนตัม มีแรงส่งต่อ เราจึงต้องมีแผนต่อเนื่องอีก เป็นแผนที่จะนำเสนอในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้แก่ แผนงานบูรณาการโครงการ จัดทำต้นแบบฐานข้อมูลพื้นที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการผลผลิต และการตลาด ซึ่งขณะนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพาได้จ้างถ่ายภาพดาวเทียม แล้วจะแปรดาวเทียมนั้นออกมาว่า ขณะนี้ภาคตะวันออกปลูกพืชอะไรบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกอย่างไร ซึ่งอนาคตจะให้เกษตรกรดูได้ทางแอปพลิเคชั่น เป็นต้น”

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานบูรณาการโครงการต่าง ๆ อาทิ พัฒนาหน่วยตรวจสอบ และรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร ภาคตะวันออก เสริมสร้างผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้เมืองร้อนในตลาดดิจิทัล การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนของทุเรียนและมังคุดของประเทศไทย การศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งเครือข่ายในการรวบรวมและกระจายสินค้าของการค้าผลไม้ไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว EEC plus 2 คือ 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจ+จันทบุรีและตราด

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์โครงการอีอีซี อยู่ระหว่างร่างแนวคิดเขตการศึกษาพิเศษ เพื่อปลดล็อกเปิดประตูสู่ระบบการศึกษาใหม่

ภาคกลางชูวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า การทำโครงการเราต้องกลับไปดูท้องถิ่นว่าเด่นอะไร มีวัฒนธรรมอะไร ซึ่งเขามีอยู่แล้ว เรามาใส่การบริหารจัดการ มาจับกลุ่ม เติมเทคโนโลยี แล้วดึงมาเป็นโอกาส สำหรับภาคกลางนั้นมี 7 วินนิ่งโปรเจ็กต์

แบ่งเป็นโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2561 ได้แก่ พัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม 4.0 และยกระดับชีวิตเกษตร ชาวนา ด้วยนวัตกรรมให้เป็นชาวนาอารยะ (รอเสนอของบประมาณปี 2562) โครงการที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 ได้แก่ การแสดงมหกรรมสินค้าของภาคกลาง คือ การจัดงาน Expo ตามด่านชายแดน เช่น ด่านพุน้ำร้อน ด่านสิงขร ด่านเจดีย์สามองค์ และมหกรรม Expo ของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง

โครงการใหม่ที่จะขับเคลื่อนในปี 2561 ได้แก่ พัฒนาตลาดสินค้าเกษตร และอาหารปลอดภัยครบวงจร ยกระดับเกษตรภาคกลางสู่เกษตรสมัยใหม่ และปลอดภัย ท่องเที่ยวชุมชนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำภาคกลาง และแอปพลิเคชั่น ท่องเที่ยวภาคกลาง

ล่าสุดโครงการ “บ้านเพชรเพลินดิน ถิ่นชมพู่ ดูขนมหวาน สราญนาวา” ได้รับงบประมาณ 37 ล้านบาท พัฒนาต้นน้ำถึงปลายน้ำ ลงไปดูชาวบ้านตั้งแต่ผลิต พัฒนาแพ็กเกจจิ้ง หาตลาดวางจำหน่าย ร่วมกับพัฒนาชุมชนจังหวัด และให้วายอีซีเป็นคณะกรรมการร่วม ส่วนโครงการแอปพลิเคชั่นท่องเที่ยว ได้งบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 19 ล้านบาท ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบพัสดุ 2560

ภาคอีสานเลาะริมโขง

นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปีนี้โครงการแต่ละเรื่องเราใช้ไทยเท่เป็นตัวนำ อาทิ ท่องเที่ยวโดยชุมชน เรามุ่งเน้น 2 โครงการใหญ่ คือ ท่องเที่ยวริมโขง และอารยธรรมขอมภาคอีสาน ที่มีหลากหลายวัฒนธรรม ส่งผ่านไปการท่องเที่ยวโดยชุมชน

สำหรับการดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมาน่าพอใจ คือ เศรษฐกิจฐานราก เปลี่ยนวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม เป็นผสมผสานและอินทรีย์ เปลี่ยนนาหว่านเป็นนาหยอด เพิ่มผลผลิตกว่า 20% ด้านวิสาหกิจชุมชนทางอีสานใต้ ชูข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ทุเรียนภูเขาไฟ ส่วนเที่ยวชุมชน อีสานกลาง อีสานตอนบน ได้ดำเนินการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชมสำเร็จ เช่น ตำบลกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด

ภาคใต้จัดแอปเดียวเที่ยวทั่วใต้

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้มีศักยภาพมหาศาล แต่อุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐาน บวกกับเศรษฐกิจที่ผูกติดกับสินค้าเกษตร ทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ไม่โต หากภาครัฐดึงงบฯจากการพัฒนาอีอีซีมาให้ภาคใต้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 แสนล้านบาท รับรองว่าการลงทุนจะตามมาอีกมาก ทั้งยังสามารถเชื่อมอีอีซีไปยัง 2 ฝั่งทะเลที่มีศักยภาพอีกมาก

สำหรับวินนิ่งโปรเจ็กต์ของภาคใต้ในปี 2561 มี 2 โปรเจ็กต์ ได้แก่ แอปพลิเคชั่น town portal เป็นผลงานของกลุ่มวายอีซี ตอบนโยบาย 4.0 ที่เร็ว ๆ นี้จะเปิดใช้งานได้ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ แอปนี้พัฒนาเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ไม่ต้องถือหนังสือนำเที่ยวทุกจังหวัด มีแอปเดียวมีข้อมูลบอกทุกอย่าง นอกจากนี้ยังบอกถึงสถานการณ์ธรรมชาติได้ เช่น น้ำท่วม หรือแม้แต่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ก็สามารถโทร.ขอความช่วยเหลือผ่านแอป ซึ่งเป็นสัญญาณผ่านดาวเทียม และอีกโครงการ คือ แพะแปลงใหญ่ เป็นโครงการเลี้ยงแพะเสริมในสวนยาง ปัจจุบันส่งเสริมบางแห่ง นำร่องกระบี่

ทั้งหมดคือความพยายามของภาคเอกชน แต่จะสัมฤทธิผลแค่ไหนยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน