คลังคุมหนี้ อุดหนุนสินค้าเกษตร ดันส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจไทย จุดอ่อนสำคัญคือ “หนี้ภาคประชาชน” โดยเฉพาะหนี้อุปโภคบริโภค 4 ล้านล้าน ปฏิบัติการร่วมมือเอกชนเบ่งตัวเลข “ส่งออก” ปีนี้ขยายตัว 10% ดึงเอ็กซิมแบงก์ซัพพอร์ตสินเชื่อ-เคลียร์ขั้นตอนศุลกากร

ส่งสัญญาณบวกนักท่องเที่ยวต่างชาติสิ้นปีมีลุ้น 10 ล้านคน ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เตรียมถอนคันเร่งมาตรการเยียวยา เร่งแก้ปมเพิ่ม “พื้นที่การคลัง” คุมเพดานหนี้ อุดหนุนสินค้าเกษตร ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบ “ประชาชน-ธุรกิจ และเงินกู้ภาครัฐ”

คลังเบ่งส่งออกขยายตัว 10%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% จากปีที่แล้วโต 1.5% ซึ่งขณะนี้สามารถเรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นแล้ว แต่ค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไป

โดยสัญญาณที่ชัดเจนมี 2 เรื่อง คือ การส่งออกสินค้าที่ยังเติบโตได้ระดับ 7% ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัวต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังหารือกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่า อยากเห็นการส่งออกเพิ่มขึ้นสัก 10% ซึ่งเห็นร่วมกันว่าจะตั้งเป็นเป้าหมายในการทำงาน จากเป้าประมาณการที่ 7%

“โดยกระทรวงการคลังจะรับผิดชอบดูแลในเรื่องของสินเชื่อต่าง ๆ ให้กับภาคการส่งออก โดยได้ร่วมมือกับเอ็กซิมแบงก์ เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมถึงเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก รวมถึงการลดขั้นตอนต่าง ๆ ในขั้นตอนกระบวนการศุลกากร ก็จะทำให้เขามีความคล่องตัวและสามารถเพิ่มการส่งออกได้”

ลุ้นนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนปีนี้

รมว.คลังกล่าวว่า สัญญาณที่ดีอีกเรื่องคือ ภาคการท่องเที่ยว ตามตัวเลขที่มีการคาดการณ์และเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าไว้ประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่บางสถาบันบอกว่า 6 ล้านคน แต่เท่าที่สอบถามอาจจะได้ถึง 10 ล้านคน ซึ่งก็จะประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิด

ฉะนั้นปีหน้า เมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวก็จะกลับมา ขณะนี้สัญญาณที่ดีก็คือมาจากตลาดยุโรป ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย แล้วก็ตลาดอินเดีย ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาและส่งผลไปต่อถึงห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ไปถึงเศรษฐกิจฐานราก อันนี้เป็นสัญญาณที่คิดว่าฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจน

“ปีที่แล้วจีดีพีเราโต 1.5% ปีนี้คาดว่า 3.5% เพราะการท่องเที่ยวยังไม่มาเต็มร้อย มาแค่ 1 ใน 4 ดังนั้นรายได้ของเราจึงเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี ประเทศที่ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวสูง ๆ มาปีนี้ตกลง เพราะมีล็อกดาวน์อย่างกรณีจีน เป็นต้น ดังนั้นการฟื้นตัวของเราช้า ๆ แต่มั่นคง ดีกว่า”

นายอาคมกล่าวว่า เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็ยังอยู่ในภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว โดยปีนี้คงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีกปี ส่วนเศรษฐกิจจะกลับมาเต็มที่เมื่อไหร่นั้น คาดว่าปี 2566 จะเริ่มผงกหัว อย่างไรก็ดี ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเกิดถดถอยก็จะกระทบเรื่องส่งออก-นำเข้า ซึ่งผลกระทบก็เจอกันทั่วโลก ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

จุดอ่อน “หนี้ครัวเรือน-ท่องเที่ยว”

นายอาคมกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจของเราที่เรียกว่าเป็นจุดอ่อนคือ เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงประมาณ 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่ปีนี้เมื่อมีการผ่อนคลายต่าง ๆ ตอนนี้นักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามาแล้ว โดยสิ่งที่เป็นจุดอ่อนตรงนี้ก็จะเริ่มดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้ในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยดีขึ้นในปี 2565

ส่วนจุดอ่อนสำคัญอีกด้าน เป็นเรื่อง “หนี้ภาคประชาชน” ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วง 2 ปีของโควิด-19 รายได้ประชาชนหดหายไปมาก โดยรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายกู้เงินมา 2 ฉบับ เพื่อที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาในด้านรายได้ของประชาชน แต่คงแค่ในระดับหนึ่ง ไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจุดอ่อนตรงนี้ก็กำลังจะคลี่คลาย เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา รายได้ประชาชนก็จะเริ่มกลับมา จากการที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานมากขึ้น

ห่วงหนี้อุปโภคบริโภค 4 ล้านล้าน

รมว.คลังกล่าวว่า กรณีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จะเป็นในส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 27.8% หรือประมาณ 4.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากการเกิดโควิด ขณะที่หนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 34.5% หนี้เพื่อการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ 12.4% ส่วนหนี้เพื่อประกอบอาชีพโดยตรงอยู่ที่ 18.1%

“ส่วนที่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค เป็นส่วนที่เราควรจะกังวล เพราะหนี้เพื่อการซื้อรถยนต์ ซื้อจักรยานยนต์พวกนี้ เป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ กับหนี้เพื่ออสังหาฯ ซ่อมบ้าน ซื้อบ้าน ก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ส่วนที่อุปโภคบริโภคจะเป็นพวกบัตรเครดิต ซึ่งก็ขึ้นกับวินัยการใช้จ่าย

คำถามคือความสามารถในการชำระหนี้มีมากน้อยขนาดไหน ในขณะที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มร้อย สิ่งสำคัญคือต้องหาวิธีการลดสต๊อกหนี้ของภาคประชาชน ในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้ ยืดหนี้ ซึ่งเมื่อมีรายได้แล้วต้องมาชำระหนี้”

โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ ซึ่งก็ต้องแก้ในภาคเกษตรด้วย ซึ่งนายกฯก็บอกว่า นอกจากปลูกพืชหลักแล้ว ก็ต้องมีพืชเสริม

ดังนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร ยืดเวลาให้ และไปส่งเสริมหรือให้สินเชื่อสำหรับพืชระยะสั้นที่ได้รายได้เร็ว

สั่งแบงก์รัฐตรึง ดบ. หวั่นซ้ำเติม

นายอาคมกล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นนั้น แน่นอนเกิดจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งกระทบต่อรายได้ของประชาชนที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอย อย่างเช่น เงิน 100 บาท เคยซื้อของได้ 2 ชิ้น ตอนนี้ก็จะเหลือซื้อได้เพียง 1 ชิ้น คือกำลังซื้อลดน้อยลงไป และผลกระทบอีกด้านหนึ่งก็คือ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงว่าต้นทุนของธนาคารก็คงเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐก็ตาม

อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น คงต้องขึ้นกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ยอมรับว่า หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อหนี้ภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเรื่องหนี้อยู่แล้ว

ดังนั้น ต้นทุนตรงนี้ก็อาจจะเพิ่มขึ้น สมมุติว่าผ่อนบ้านอยู่ ถ้าดอกเบี้ยไม่ฟิกซ์ (คงที่) ตอนที่ทำสัญญา ก็อาจจะมีการปรับขึ้น ทั้งนี้ การช่วยบรรเทาภาระประชาชนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็จะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด แต่คงบอกไม่ได้ว่าจะถึงเมื่อไหร่ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์

นอกจากนี้ กรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ก็จะไปเพิ่มในส่วนของต้นทุนในการกู้ยืมก็จะเป็นภาระของภาคเอกชน นี่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ และส่วนที่สาม คือภาครัฐบาล ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะของประเทศเป็นหนี้ในประเทศ 98% ส่วนหนี้เงินตราต่างประเทศมีแค่ 2%

ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาระของเราก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย แต่ทางกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นภาระก็เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็คงจะไม่มาก

จับตาแพ็กเกจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นนั้น ประกอบด้วยหลายกระทรวง และมีอนุกรรมการที่เป็นคณะทำงาน ซึ่งจะพิจารณาทั้งแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน แล้วก็หมวดอาหาร ดูว่าจะมีวิธีการแก้อย่างไร และระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ๆ

เช่น การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นต้นทุนของภาคเอกชน หรือการที่จะแก้หนี้ภาคประชาชนในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ก็โยงกับเรื่องวินัยการเงินของภาคประชาชน กระทรวงการคลังก็อาจจะดำเนินการในเรื่องของการเพิ่มทักษะทางการเงิน

ส่วนจะมีมาตรการช่วยเหลืออะไรออกมาหรือไม่ คงต้องรอดู โดยปัจจุบันก็มีมาตรการส่วนหนึ่งที่ดำเนินการอยู่ อย่างเช่น การลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในเรื่องค่าไฟ ค่าน้ำมันสำหรับวินมอเตอร์ไซค์กับแท็กซี่ การตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงการกำกับดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการคงจะพิจารณาว่าจะมีอะไรที่จะเพิ่มเติมเข้ามาอีกหรือไม่

“ส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ในช่วงที่เป็นรอยต่อระหว่างช่วงโควิด-19 กับเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพ ขณะที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มร้อย ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็นำโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 มาดำเนินการในช่วงวันที่ 1 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. ซึ่งก็จะมี 3 กลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือคือ

กลุ่มประชาชนทั่วไปประมาณ 29 ล้านคน กลุ่มที่มีบัตรสวัสดิการ 13 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางอีกกว่า 2 ล้านคน รวมประมาณ 42 ล้านคน ก็เชื่อว่าในช่วงนี้เม็ดเงินที่จะสะพัดอยู่ในระบบเศรษฐกิจก็ประมาณ 50,000 ล้านบาท”

คลังลดมาตรการช่วยเหลือ

รมว.คลังกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้น มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปนั้นคงจะต้องลดลงไปโดยลำดับ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถทำงานได้ โดยรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือให้น้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต เช่นเดียวกับนโยบายการเงินต้องกลับมาทำงาน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น นโยบายการคลังทำหน้าที่หลักในการอัดฉีดเงินเข้าไป

“พอเมื่อเศรษฐกิจฟื้น นโยบายการเงินก็จะต้องทำงาน เพื่อที่จะดูแลทั้งในเรื่องของการฟื้นตัว กับในเรื่องของการที่จะทำให้อัตราการบริโภคไม่สูงจนเกินไป แม้ว่าบ้านเราจะบอกว่า อัตราเงินเฟ้อมาจากต้นทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นก็คงจะมีผล และในเรื่องของเงินทุนไหลออก ซึ่งเรื่องนี้เราต้องคุยกันในรายละเอียดว่าจะมีความสมดุลกันอย่างไร”

เร่งแก้ปม “พื้นที่การคลัง”

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องขยายพื้นที่ทางการคลังคือ หนี้สาธารณะ จากก่อหนี้ได้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ซึ่งเป็นการรองรับเผื่อกรณีฉุกเฉิน กรณีที่มีวิกฤตต้องเผชิญแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่าย ซึ่งเรื่องหนี้สาธารณะไม่ห่วง เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจเดินได้ ภาครัฐก็มีขีดความสามารถที่จะชำระ

“เมื่อก่อนการชำระเงินต้นมีไม่มาก ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มไปเรื่อย ๆ แต่ตอนหลังได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณไปแล้วว่า แต่ละปีต้องชำระเงินต้นอย่างน้อย 100,000 ล้านบาท”

อีกส่วนคือ การใช้มาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลัง เพื่อดูแลประชาชนช่วยเหลือเกษตรกร โดยเป็นการให้ธนาคารของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ แล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ย หรือชดเชยส่วนต่างของรายได้จากราคาท้องตลาดกับราคาที่ควรจะได้

ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังก็กำหนดไว้ว่า การอุดหนุนของรัฐบาลต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่เมื่อปี 2564-2565 เนื่องจากราคาข้าวลดลงค่อนข้างต่ำมาก ภาระในการชดเชยรายได้ก็เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จึงมีความจำเป็นที่ต้องขยายเพดานจาก 30% เป็น 35% เป็นการชั่วคราว คือส่วนที่ยังเป็นภาระอยู่ในขณะนี้

ปิดโครงการอุดหนุนเกษตร

รมว.คลังกล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนยังไม่เกิน 35% แต่มีการใช้วงเงินไปแล้วประมาณ 34% ของงบประมาณรายจ่าย ก็ประมาณกว่า 900,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปก็คือ โครงการเดิม ๆ จะต้องทยอยปิดโครงการ นี่เป็นมาตรการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อเปิดวงเงินให้กับมาตรา 28 ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเร่งด่วนอะไรต่าง ๆ คือภายในสิ้นปีนี้ต้องพิจารณาว่า จะกลับไปที่ 30% ได้อย่างไร

“ทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ อันเนื่องมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องหนี้สาธารณะก็ต้องดูเหมือนกันว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้น สัดส่วนหนี้ตรงนี้ก็จะดีขึ้น

แต่ในส่วนของมาตรา 28 เราก็จะพยายามใช้ให้น้อยลง เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อันนี้เป็นสิ่งที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ไม่อยากเห็นว่า รัฐบาลใช้วงเงินตรงนี้มาดำเนินนโยบาย เพราะจะเป็นภาระในอนาคต”

เร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุนโค้งท้าย

รมว.คลังกล่าวอีกว่า ปีนี้คาดว่าจะเบิกจ่ายงบฯลงทุนได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว หรือประมาณ 70% ของงบฯลงทุนภาพรวม ก็ยังไม่เต็มร้อย เนื่องจากที่ผ่านมามีมาตรการผ่อนปรนให้ ยืดสัญญาให้ จากผลกระทบช่วงโควิดที่อาจจะหาคนงานไม่ได้ ซึ่งตอนนี้มาตรการจบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.

ดังนั้น ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่กระทรวงต่าง ๆ สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายได้ โดย 9 เดือนแรกงบฯลงทุนเบิกจ่ายขยายตัว 4.6%