กสิกร-ซีมันนี่-MTC แห่ปล่อยกู้กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ลุยธุรกิจซื้อก่อนจ่ายทีหลัง

สินเชื่อ กู้ บ้าน

สถาบันการเงินเดินหน้าขยายตลาด “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” แบงก์ใหญ่ “กสิกรไทย” ปล่อยกู้เจาะกลุ่มลูกค้ามีข้อจำกัดเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร ปีนี้ตั้งเป้า “K PAY LATER” โต 4 เท่า ขณะที่ ซีมันนี่ ส่งบริการ “SPayLater” เสิร์ฟลูกค้า “ช้อปปี้” ด้าน MTC โชว์ผลงาน เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ ยอดอนุมัติเฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน ขีดเส้นกดหนี้เสียไม่เกิน 5%

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารเปิดให้บริการ K PAY LATER เป็นแบงก์แรก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ภายใต้ใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งจะปล่อยสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย โดยปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว

ทั้งนี้ โปรดักต์ดังกล่าวเกิดจากธนาคารต้องการช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารด้วยข้อจำกัด เช่น ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน ทำให้หันไปใช้สินเชื่อนอกระบบที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและมีความเสี่ยงจากการติดตามหนี้

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง

โดยธนาคารได้พัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยง นำข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้ามาพิจารณาประกอบ แทนการดูเอกสารรายได้ ตั้งแต่การอนุมัติวงเงิน การติดตามการใช้วงเงิน การชำระคืน ตลอดจนการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรม ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความตั้งใจในการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้

“ธนาคารมองว่า buy-now-pay-later ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศไทย และมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากจำนวนผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคารมีมากถึง 20-30 ล้านคน ประกอบกับเทรนด์การใช้จ่ายแบบ cashless (ไร้เงินสด) ที่สูงขึ้นผู้ซื้อหันมาชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งมากขึ้น buy-now-pay-later จะเป็นทางเลือกของช่องทางการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น”

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากที่บริษัททำธุรกิจสินเชื่อบุคคลดิจิทัลมากว่า 1 ปี ภายใต้ชื่อ “SEasyCas” ได้การตอบรับค่อนข้างดี ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ปัญหาเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเห็นสัญญาณความต้องการใช้เงินต่อเนื่อง

สอดคล้องกับเป้าหมายของ “ซีมันนี่” ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (SSME) คนตัวเล็กที่อยู่บนแพลตฟอร์ม “Shopee”

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพราะข้อจำกัด เช่น เอกสารทางการเงินไม่พอ และมีความต้องการวงเงินไม่สูงมาก เป็นต้น บริษัทจึงเริ่มเข้ามาให้บริการกลุ่มนี้ โดยเริ่มจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการสภาพคล่อง และในส่วนของผู้ซื้อผ่านบริการ “SPayLater” ที่มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

“เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่สูง ทำให้รายได้อาจจะไม่เพียงพอ หรือตึงตัว บริการ “SPayLater” จึงเป็นทางเลือกให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการได้ 3 งวด”

นางสาวมณีรัตน์ยอมรับว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงทางด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่จากการสำรวจพบว่าลูกค้าของซีมันนี่ยังชำระหนี้ได้ตามปกติ และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังน้อยมาก

ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทมีระบบหลังบ้านในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินความเสี่ยง ความสามารถในการชำระคืนหนี้ และการตรงต่อเวลาในการชำระหนี้ เป็นต้น ประกอบกับวงเงินที่ปล่อยสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง ไม่ได้ปล่อยเต็มเพดานตามไลเซนส์ที่กำหนดไว้ 2 หมื่นบาท

“อย่างไรก็ตาม จากความต้องการสินเชื่อที่ยังมีมาก บริษัทยังคงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มบริการทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านบริการ Digital Finance”

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัท “เมืองไทย เพย์ เลเทอร์” มีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดอนุมัติสินเชื่อราว 100 ล้านบาทต่อเดือน แต่จากแนวโน้มตลาดที่กำลังโต คาดว่ายอดสินเชื่อน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอล ปัจจุบันลูกค้ายังคงผ่อนชำระปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริษัทยังคงเจาะฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ 3 ล้านราย ซึ่งสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้เริ่มขยายตลาด โดยให้ลูกค้าเก่าแนะนำลูกค้าใหม่ก่อน ซึ่งเอ็นพีแอลไม่เกิน 5% ถือว่ายังสามารถรองรับได้

“ตอนนี้เราปล่อยได้เฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาท โดยในช่วงเปิดเทอมอุปกรณ์การเรียนจะได้รับความนิยม เช่น ไอแพด คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น เรามองว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก เพราะลูกค้าซื้อก่อนและค่อยมาผ่อน ซึ่งเราให้ผ่อนสูงสุด 12-36 เดือน ขึ้นกับวงเงินเพดานไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่โดยเฉลี่ยลูกค้าใช้จริง1-1.5 หมื่นบาท ดอกเบี้ยคิดไม่เกิน 22%”