แบงก์-น็อนแบงก์ลุยตลาดใหม่ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

คนไม่มีบัตรเครดิต เฮ แบงก์-น็อนแบงก์แห่เปิดบริการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้โปรดักต์ใหม่ของสถาบันการเงินล้อเทรนด์อีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน “MTC” ตั้งบริษัท “เมืองไทย เพย์ เลเทอร์” เปิดบริการเดือน ม.ค.นี้ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 5 พันล้าน ขณะที่ “แรบบิท แคช” โดดลุยด้วย ชี้ตลาดในไทยมีโอกาสเติบโตสูง ด้าน “ซีไอเอ็มบี ไทย” ย้ำโปรดักต์ที่มีความเสี่ยงสูง ระบุต้องมีโมเดลวิเคราะห์ “ลูกค้า-ร้านค้า” ที่ดีเพื่อลดการเกิดหนี้เสีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) หลาย ๆ ค่ายมีการเปิดให้บริการที่เรียกว่า “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” (Buy Now Pay Later) อาทิ ธนาคารกสิกรไทย

ที่เพิ่งได้ใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ได้เปิดให้บริการสินเชื่อในชื่อ K Pay Later สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการ วงเงินสูงสุด 2 หมื่นบาท ผ่อนชำระนานสุด 5 เดือน ไม่อนุญาตเบิกถอนเป็นเงินสด

โดยบริการนี้ลูกค้าสามารถสมัครผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS อนุมัติไวสุดภายใน 3 นาที ไม่จำเป็นต้องใช้สลิปเงินเดือน ไม่ต้องยื่นเอกสาร ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ไม่มีค่าธรรมเนียม โดยพิจารณาใช้ข้อมูลทางเลือกในการอนุมัติ

เช่น ประวัติการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ของลูกค้า หรือการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกสูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี ซึ่งธนาคารเน้นลูกค้ารายใหม่และลูกค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงการเงิน

ชี้เป็นเทรนด์ตอบโจทย์ผู้บริโภค

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่สถาบันการเงินหันมาออกผลิตภัณฑ์ Buy Now Pay Later หรือซื้อก่อนผ่อนทีหลัง กันมากขึ้น มองว่าเป็นการปรับตัวของธุรกิจสถาบันการเงินซึ่งคล้ายกับการมุ่งเน้นไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น และต้องปรับผลิตภัณฑ์ไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม Buy Now Pay Later เป็นโปรดักต์ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง แต่มีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าและบริการ แต่ไม่มีบัตรเครดิต โดย Buy Now Pay Later เป็นการมาเจอกันระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งจะเป็นทิศทางที่ธนาคารจะทำกันมากขึ้น” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

บริการเสริมปั้นรายได้

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (MTC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า MTC อยู่ระหว่างเตรียมเปิดตัวบริการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” จะดำเนินการภายใต้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ชื่อ “เมืองไทย เพย์ เลเทอร์” ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท จะทำธุรกิจภายใต้ไลเซนส์สินเชื่อบุคคล

คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือน ม.ค.นี้ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อภายในปีแรก 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นเน้นฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ราว 3 ล้านราย และขยายไปสู่ลูกค้ารายใหม่ คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า แต่ไม่เกินเกณฑ์เพดานกำหนดที่ 25% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 6-18 เดือน

หากเป็นลูกค้าใหม่จะกำหนดวงเงินไม่สูงเพื่อดูประวัติการชำระหนี้และทยอยเพิ่มวงเงินให้ หากชำระดีโดยตั้งเป้าจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 2% โปรดักต์นี้จะเป็นน่านน้ำใหม่ที่แบงก์และน็อนแบงก์ ซึ่ง MTC เองก็ถือเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ประกาศว่าจะทำเป็นโปรดักต์เสริมเพื่อสร้างรายได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจาติดต่อร้านค้าแล้ว เช่น บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เป็นต้น

“แบงก์และน็อนแบงก์หันมาให้ความสนใจ pay later มากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อไม่พอแต่ต้องการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งบริการนี้จะไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ และจะแตกต่างจากบัตรเครดิตที่ไม่ได้จำกัดว่าจะนำวงเงินที่ได้รับไปใช้ทำอะไร จึงเป็นเหมือนสินเชื่ออเนกประสงค์ ส่วนการแข่งขันจะรุนแรงหรือไม่จะต้องดูฐานลูกค้าด้วย เพราะต้องดูประวัติการชำระหนี้ หากเป็นรายใหม่จะมีความเสี่ยงหน่อย” นายชูชาติกล่าว

เปิดโอกาสคนไม่มีบัตรเครดิต

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า สินเชื่อซื้อก่อนผ่อนทีหลัง เป็นผลิตภัณฑ์เสริมของผู้ประกอบการและทั่วโลก เพื่อเกาะกระแสการเติบโตของธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ (e-Commerce) ที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง เป็นการเปิดวงเงินสำหรับคนที่มีและไม่มีบัตรเครดิตให้สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ จึงมีความคล้ายกับการเปิดบัญชีใช้จ่ายเพื่อซื้อของ

ขณะที่ นางสาวรัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัดกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ Buy Now Pay Later เป็นการผ่อนชำระค่าสินค้าหรือบริการที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าทั้งที่มีบัตรเครดิต หรือไม่มีบัตรเครดิตสามารถใช้บริการผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยแรบบิท แคชเองมีแผนจะให้บริการนี้ภายในปีนี้ ช่วงแรกจะให้บริการกับบริษัทพันธมิตรในเครือก่อนที่จะขยายการให้บริการในวงกว้าง

บริการมีความเสี่ยงสูง

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จริง ๆ แล้วบริการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” มีในไทยมานานเป็น 10 ปีแล้ว แต่ในอดีตจะอยู่ในรูปแบบบัตรเครดิตใช้ผ่อนชำระสินค้า แต่ปัจจุบันจะให้วงเงินผ่านช่องทางดิจิทัลวงเงินไม่สูงเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อราย และอนุมัติการซื้อสินค้า ณ ร้านค้าที่กำหนด โดยจะอยู่ภายใต้ใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล แต่จะเน้นปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าเก่า หรือปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลที่มีการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณา

อย่างไรก็ดี “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ของสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และให้ผลตอบแทนตามความเสี่ยง จึงต้องมีโมเดลที่สามารถคัดกรองลูกค้าได้ รวมถึงการกำหนดความเสี่ยงร้านค้าที่จะต้องพิจารณาร่วมด้วย

เช่น ร้านค้าที่มีการรับของคืนเยอะ หรือลูกค้านำของมาขายต่อ จะต้องมีความเสี่ยงด้านหนี้เสียเพิ่มขึ้น หรือการวิเคราะห์ลูกค้าผ่านร้านค้า เช่น กระเป๋าในร้านธรรมดา หรือแบรนด์เนม หรือร้านโทรศัพท์มือถือที่ดูจากยี่ห้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับบัตรเครดิต Buy Now Pay Later จะมีความเสี่ยงสูงกว่า ดังจะเห็นได้จากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่โปรดักต์นี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนของออสเตรเลียที่สูงถึง 140%


“เมื่อเทรนด์ไปทางดิจิทัลทำให้แบงก์ น็อนแบงก์ต้องเดินไปทางนี้หมด ซึ่ง Buy Now Pay Later เป็นการเปิดตลาดใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่จะเห็นแบงก์เข้ามาร่วมทำเพราะเข้าใจว่าจะต้องมีโมเดลในการวิเคราะห์และเข้าใจเซ็กเมนต์ลูกค้า รวมถึงเครื่องมือในการสกรีนลูกค้า และต้องดูร้านค้าที่มีความเสี่ยงต่ำได้ด้วย” นายเอกสิทธิ์กล่าว