การมาถึงของ BNPL

ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมในทุกผลิตภัณฑ์ มีขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แม้บางครั้งเราอาจไม่ต้องจ่ายเป็น “เงิน” ให้ได้สิ่งของนั้นมา แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็ยังต้องใช้บางสิ่งแลกเปลี่ยนมาอยู่ดี

“โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันนำมาซึ่งทางเลือกที่มากขึ้นสำหรับผู้บริโภค ดังจะเห็นได้จากการเปิดศึกชิงฐานลูกค้าของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในช่วงที่เริ่มเข้ามาทำตลาด

นำโดยสตาร์ตอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, ฟู้ดดีลิเวอรี่ และออนดีมานด์ดีลิเวอรี่ทั้งหลายที่ถล่มโปรฯสู้กันอย่างดุเดือด

แม้บางรายที่เริ่มมีฐานลูกค้ามากแล้วจะเริ่มลดการเผาเงินทิ้งไปกับโปรโมชั่นบ้าง ทำให้ราคาค่าบริการขยับขึ้นแต่ผู้บริโภคก็ยังมีทางเลือกจากตลาดที่มีผู้เล่นหลายราย

และล่าสุดกับแพลตฟอร์ม BNPL-buy now pay later หรือบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง

ในสภาวะที่สินค้าและบริการต่าง ๆ ทยอยปรับราคาขึ้นกันหมด ย่อมส่งผลถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย

สำหรับร้านค้าการมีเครื่องมือทางการเงินบางอย่างมาช่วย ทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นจึงจำเป็น

ว่ากันว่า BNPL อาจเป็นบริการที่เข้ามาดิสรัปต์บัตรเครดิตด้วยจุดเด่นที่ว่า การสมัครว่าง่ายแล้ว การอนุมัติยิ่งง่าย และเร็วกว่าบัตรเครดิตมาก

หลังจากสมัครแค่ไม่กี่นาทีก็จะได้อนุมัติวงเงินให้มาใช้ได้ก่อนทันที ทั้งยังไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปี และในกรณีที่สามารถชำระเงินคืนตามกำหนดได้ก็จะไม่เสียดอกเบี้ยอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้ว “ผู้ให้บริการ” BNPL จะไม่เก็บเงินกับ “ผู้ซื้อ” หรือผู้บริโภค แต่จะเก็บจาก “ร้านค้า” แทน

สำหรับนักช็อปที่มีวินัยการเงินดี BNPLจึงมีประโยชน์จะว่าไปก็ไม่ต่างไปจากการใช้บัตรเครดิตที่รูดจ่ายไปก่อน ถ้าจ่ายครบตามรอบเรียกเก็บก็ไม่เสียดอกเบี้ย เพียงแต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ BNPL โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีหรือไม่นิยมการใช้บัตรเครดิต

ในบ้านเราก็เริ่มเห็นการชำระเงินในรูปแบบนี้มากขึ้นแล้ว ล่าสุดในร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังต่าง ๆ เช่น H&M ก็จับมือกับแพลตฟอร์ม BNPL จากสิงคโปร์แบรนด์ Atome หรือบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” ก็มี SPayLater เช่นกันกับ Pay Next ของทรูมันนี่ เป็นต้น

กรณีบัตรเครดิตจะอนุมัติการใช้งานโดยขอพิจารณาความสามารถในการจ่ายจากหนังสือรับรองเงินเดือน ใครไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือทำงานประจำ ยากที่จะทำบัตรเครดิตได้ แตกต่างไปจาก BNPL ที่อนุมัติวงเงินให้ลูกค้าโดยใช้ “แมชีนเลิร์นนิ่ง” ประเมินพฤติกรรมการใช้จ่ายและประวัติการชำระเงินจึงค่อนข้างง่ายกว่าสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพราะมีฐานข้อมูลการใช้งานของลูกค้าอยู่ก่อนแล้ว

คนที่ยังไม่มีบัตรเครดิตซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนที่มี จึงหันมาเลือกใช้รูปแบบการจ่ายเงินแบบ buy now pay later และกำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก

ในบ้านเราก็คงไม่ยากเช่นกัน

ในมุมของร้านค้า BNPL ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ก็คงไม่ต่างไปจากโปรแกรมผ่อน 0% ที่บรรดาร้านค้าและเจ้าของสินค้าในปัจจุบันทำกันอยู่แล้ว และน่าจะทำมากขึ้นด้วยในสภาวะที่กำลังซื้อในปัจจุบันเริ่มไม่สู้จะดีนักจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำร่วมกับบัตรเครดิตต่าง ๆ โดยที่ร้านค้าหรือแบรนด์สินค้านั้น ๆ จะเป็นผู้รับภาระค่าดอกเบี้ยแทนลูกค้า

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการชำระเงินแบบ BNPL หรือโปรฯผ่อน 0% เป็นเครื่องมือช่วยร้านค้าให้ขายของง่ายขึ้นก็จริง แต่ในอีกมุมน่าคิดว่าเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ใช้เงินเกินตัว หรือก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นหรือไม่ อ้างอิงจากผลสำรวจของ Barclays ธนาคารในประเทศอังกฤษที่พบว่าผู้ที่ใช้ BNPLมากถึง 30% ไม่มีความสามารถที่จะชำระค่าสินค้าได้ จึงเป็นคำถามตามต่อมาถึงความสามารถในการประเมินความเสี่ยงของแพลตฟอร์มด้วยว่ามีความสามารถมากแค่ไหน

ชัดเจนว่าการมาถึงของรูปแบบบริการใหม่ ๆ ที่นำ “เทคโนโลยี” มาปรับใช้เพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ ได้หากใช้อย่างมีความรับผิดชอบ