ก้าวสำคัญของ “แอนิเทค” ข้ามเขต “แบรนด์” สู่ “เทคคอมปะนี”

โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี
โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี

แอนิเทค (Anitech) แบรนด์ฮาร์ดแวร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไทย ที่เริ่มต้นและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจากอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเมาส์, คีย์บอร์ด, เกมมิ่งเกียร์, ปลั๊กพ่วงทั้งปลั๊กธรรมดา และแบบที่รองรับ “ไอโอที” ก่อนขยายไลน์สินค้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสารพัดแก็ดเจตที่เน้นตอบสนองดิจิทัลไลฟ์สไตล์ในราคาที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้

แม้เมื่อเจอกับโควิดก็เพิ่มเติมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยเข้าไปในพอร์ต มีตั้งแต่เครื่องกรองอากาศแบบพกพาไปจนถึงชุด PPE

ล่าสุดดึงกลยุทธ์ “แคแร็กเตอร์มาร์เก็ตติ้ง” นำแคแร็กเตอร์ในการ์ตูนดัง “PEANUTS” เช่น “สนู้ปปี้” มาขยายฐานลูกค้าให้กว้าง และลึกขึ้น

ว่ากันว่าเปิดตัวปั๊บก็รับออร์เดอร์กันแทบไม่ทัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป หลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดล่าสุด และเป้าหมายในอนาคตที่เขาบอกว่าจะไม่หยุดอยู่ที่การเป็นผู้ผลิต “ฮาร์ดแวร์”

“แคแร็กเตอร์มาร์เก็ตติ้ง”

“โธมัส” พูดถึงที่มาที่ไปของการขยับมาใช้กลยุทธ์ “แคแร็กเตอร์มาร์เก็ตติ้ง” โดยเริ่มจาก “สนู้ปปี้” ว่ามาจากความต้องการที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่มีความหลากหลายขึ้น และสื่อถึงความเป็นสากล ซึ่งจะเป็น “เอสเคิร์ฟ” ใหม่อย่างแรกของบริษัท

“เราทำสินค้าฮาร์ดแวร์มา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2006 จำหน่ายสินค้าไปปีละ 2 ล้านชิ้น รวม ๆ แล้วมากกว่าสิบล้านชิ้น จึงต้องมองหาว่าจะมีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้สินค้าของเราเข้าถึงคนทุกรุ่น”

ครั้งนี้จึงมองมายัง “แคแร็กเตอร์มาร์เก็ตติ้ง” เริ่มจาก “สนู้ปปี้”

“จริง ๆ การเปิดตัวสินค้าแคแร็กเตอร์สนู้ปปี้ เป็นอีเวนต์แรกมาตั้งแต่ปี 2019 และปีนี้เราจะอยู่กับสนู้ปปี้ทั้งปี”

นอกจาก “สนู้ปปี้” จะมีคอมมิวนิตี้ของตนเองกว่าหลักแสนคนที่จะสนับสนุนการทำงาน และมีอินฟลูเอนเซอร์อีกเป็นจำนวนมากแล้ว ยังสร้างโอกาสให้บริษัทไปเจอกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ อันนำไปสู่การ “โคแบรนดิ้ง” กับแบรนด์อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ความร่วมกับแบรนด์นอติลุส และลาเนจ (LANEIGE)

“แม้ทั้งเราและเขาจะเป็นแบรนด์ที่ทำสินค้ากันคนละจักรวาล แต่โดยส่วนตัวมองว่าต่อไปเส้นแบ่งของแบรนด์จางลงเรื่อย ๆ ใครจะคิดว่าการโคแบรนด์ระหว่างเรากับนอติลุสที่ขายทูน่า และลาเนจ ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสำอางจากเกาหลี จะเกิดขึ้นได้”

เขาบอกว่าความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ “แอนิเทค” ก้าวข้ามเขตแบรนด์ของตนเองไปเจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เช่น กรณีสนู้ปปี้ ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย

โคแบรนดิ้งขยายฐานลูกค้า

“โธมัส” ขยายความแนวคิดในการทำโคแบรนดิ้งว่าการทำการตลาดในปัจจุบันต้องมีความยืดหยุ่น และไม่ยึดติด เช่น ไม่ใช่มองแค่ว่าลูกค้าของแอนิเทคจะต้องเป็นกลุ่มคนที่ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ควรมองว่าบริษัทขายของให้กับผู้คน

“เราขายของให้คน มนุษย์ทำอะไร ตื่นนอน ไปทำงาน อยู่กับครอบครัว ทำอาหาร เข้านอน และมีช่วงเวลาอื่น ๆ แต่งหน้า กินข้าว ระวังแคลอรี ดังนั้นแบรนด์แบรนด์หนึ่งควรที่จะปรับเข้ากับชีวิตมนุษย์ได้ ไม่จำเป็นต้องยืนหนึ่งเป็นท็อปออฟไมนด์ แต่ต้องมองว่าจะจับมือกันอย่างไรให้ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจเจตนารมณ์ของแบรนด์ได้ จึงจะเอาชนะใจผู้บริโภคได้ในระยะยาว”

กรณี “สนู้ปปี้” มีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มไหน ใช่คนรุ่นใหม่หรือไม่ เป็นคำถามแรก ๆ ที่ตนถามตนเองเหมือนกัน แต่พอไปไล่ดูก็พบว่า กลุ่มเป้าหมายคือ “ครอบครัว” อายุ 70-80 ปีก็รู้จัก

“คุณแม่ผมยังรู้จัก และดีใจที่ร่วมกับสนู้ปปี้ หรือลูกผม 4 ขวบก็บอกว่ารู้จักสนู้ปปี้ เคยดูบนยูทูบ ดังนั้นเป้าหมายของสนู้ปปี้จึงไม่อาจระบุได้ด้วยช่วงวัย แต่เป็นแคแร็กเตอร์ที่น่าสนใจ มีความเป็นครอบครัว ตัวเอกมีความไม่ย่อท้อ มีความพยายามในการก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้กลุ่มลูกค้ากว้างมาก”

เติบโตบนตลาดที่ไม่โต

สำหรับภาพรวมการเติบโตของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์แก็ดเจตไอทีในปัจจุบัน “โธมัส” บอกว่าคงต้องดู GDP ของประเทศเป็นตัวตั้ง ซึ่งไม่น่าจะทำให้โตไปได้มากนัก แม้ขณะนี้จะยังได้อานิสงส์จากคนที่อาจไม่ได้ใช้เงินมากนักในช่วงโควิดที่ผ่านมา เมื่อเริ่มเปิดเมืองจึงมีการใช้สอยมากขึ้น ทำให้สินค้าบางตัวกลับมาไม่พอขาย เช่น สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

“ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมมีมูลค่าราว 8.6 หมื่นล้านบาท เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กราว 25-30% มูลค่า 2 หมื่นล้านโดยประมาณ การเติบโตอาจไม่เยอะมากด้วยจีดีพียังน่าห่วง โควิดที่ผ่านมามีทั้งบวกและลบ แต่โดยรวมทำให้เราโตขึ้น

เพราะคนต้องทำงานทุกที่จึงจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ส่วนปัจจัยลบคือคนต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อ ATK, แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ถือเป็นภาระในแง่รายได้ของคนทั่วไป ทำให้เราเติบโตบนตลาดที่ไม่โต”

จากสภาพตลาดปัจจุบันทำให้การเติบโตของบริษัทไปไม่ถึงสองดิจิต แต่ยังถือว่าโต และในภาพรวมของอุตสาหกรรมยังพอไปได้ แต่คงขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละบริษัทด้วย เพราะโควิดไม่ได้นำแค่ทำให้มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อเท่านั้น แต่กระทบต้นทุนการผลิตที่ทุกอย่างสูงขึ้นหมด

“ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ไม่มีระบบ ไม่มีทีมงานที่แข็งแกร่งพอ ต่อให้ตลาดเติบโต กำไรคุณก็อาจจะไม่เหลือเลยก็ได้ ซัพพลายอาจจะสะดุด แต่โชคดีที่สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป มีทีมงานที่อยู่กับบริษัทมาเป็นสิบปี ผ่านหลายสถานการณ์มาด้วยกัน จึงไม่ได้ตกใจกับสถานการณ์เช่นนี้นัก ที่ผ่านมาเราต้องปรับตามสถานการณ์มาตลอด ทั้งราคาวัตถุดิบผันผวน วัตถุดิบขาด ปิดท่าเรือ”

สำหรับเขาการปรับตัวปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นเรื่องปกติ และที่ผ่านมาบริษัทปรับระบบการทำงาน การจัดซื้อ และการบริหารต้นทุนมาตลอด แทบจะรื้อใหม่ทั้งหมดก็ยังทำมาแล้ว

จากโลคอลสู่ “โกลบอล”

“โธมัส” พูดถึงเป้าหมายของบริษัทในอนาคตด้วยว่า เขาต้องการผลักดันแบรนด์ “แอนิเทค” ให้สามารถขยายตลาดไปในต่างประเทศได้ด้วย

“ถ้าดูจากแบรนด์ระดับโลกอื่น ๆ ล้วนเริ่มจากการเป็นแชมเปี้ยนในระดับโลคอลก่อน แล้วขยายตัวเองไปสู่ต่างประเทศ การขยายสู่ต่างประเทศต้องทำอย่างไร ก็ต้องหาตัวแทนเป็นคนเล่าเรื่อง ถ้ามองบริษัทที่อยู่มานับร้อยปีก็ล้วนเริ่มต้นแบบเรา คือมีสินค้าอยู่ไม่กี่ชิ้น และพัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ”

ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น เม้าส์ คีย์บอร์ด หูฟัง ลำโพง 2.อุปกรณ์ในบ้าน (home device) เช่น ปลั๊กไฟ 3.home appliance เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เตาไฟฟ้า กาต้มน้ำ 4.กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย และการทำความสะอาด และ 5.กลุ่มเกมมิ่ง

“ตัวเครื่องใช้ในบ้าน เราเตรียมพัฒนาสู่แพลตฟอร์มไอโอทีมาหลายปีแล้ว เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะมาพร้อม 5G และยังมีสินค้าในกลุ่มอื่นอีกหลายชิ้นที่จะตามมา เราอยู่ในยุคที่ผู้คนมองหาความคุ้มค่า จึงอยากผลักดันสนู้ปปี้ก่อน อยากให้สัมพันธ์กับความเป็นแบรนด์ก่อน เดี๋ยวไอโอทีจะตามมา

โดยปีนี้จึงเน้นสินค้า 3 กลุ่มที่สร้างความคุ้มค่าและสัมพันธ์กับแบรนด์ คือ 1.อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 2.อุปกรณ์ในบ้าน 3.home appliance โดยมีสัดส่วนการผลิตอย่างละ 30% ที่เหลืออีก 10% เป็นสินค้าสองกลุ่มที่เหลือ

ฝันไกลสู่ “เทคคัมปะนี”

ไม่ใช่เท่านั้น “โธมัส” มองไปยังการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเป็น “เทคคอมปะนี” ด้วยว่า เป็นแนวคิดที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด และยังดำเนินการอยู่ และคาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะทรานส์ฟอร์มเต็มตัว โดยจะมีแพลตฟอร์มที่มียูสเซอร์พร้อม เช่น แพลตฟอร์มแอนิเวิร์สที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้

“บริษัทเรามีแผนกที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ถึงกว่า 20 คน ที่ตอนนี้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนมาแล้วหลายโปรเจ็กต์ด้วยกัน และอีกส่วนคือ แอนิเทค ไอโอทีที่กำลังพัฒนาอยู่ เมื่อทำเสร็จจะทำให้เรามีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เป็นของแอนิเทคเอง และมีซอฟต์แวร์ซึ่งจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์”

และมองว่าในวันที่เป็นเทคคอมปะนี คาดว่ารายได้ของบริษัทจะมาจากทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์อย่างละครึ่ง

“สำหรับฮาร์ดแวร์ ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีคนใช้งาน เป็นไลฟ์สไตล์ผู้คน และเป็นตัวตนของแอนิเทค ส่วนฝั่งซอฟต์แวร์เป็นเรื่องของอนาคตที่ถ้าใครมีศักยภาพต้องพุ่งไป เรามองว่าเรามีศักยภาพที่จะผสานทั้งฮาร์ดแวร์ร่วมกับซอฟต์แวร์ได้ ส่วนทิศทางเรื่องรายได้จะเห็นชัดขึ้นเมื่อเราเปิดตัวแอนิเวิร์ส ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า”

โดย “แอนิเวิร์ส” พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นคอมมิวนิตี้ และแก้ปัญหาด้านการศึกษา เน้นการพัฒนาบนสิ่งที่จับต้องได้ และมีพื้นฐาน เพราะบริษัทเกิดมาจากการพัฒนาสินค้าที่จับต้องได้ ซื้อมาขายไป คนใช้เกิดประโยชน์ ฉะนั้นซอฟต์แวร์ หรือเมต้าเวิร์สที่ทำก็ต้องอยู่บนแนวคิดว่าคนใช้งานต้องได้ประโยชน์จริง และไม่มีการปั่นมูลค่า

“ที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นทั้งด้านดีไซน์ รวมไปถึงคุณภาพและการรับประกันสินค้า ตามวิสัยทัศน์องค์กรที่ต้องการมีส่วนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และมีอายุยาวนานเกินร้อยปี โดยตั้งใจและมุ่งเน้นให้สินค้าเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อทุกเจเนอเรชั่นของคนในครอบครัวในราคาที่สามารถจับต้องได้

ล่าสุดด้วยแคมเปญ anitech x PEANUTS เพื่อให้เราเข้าไปอยู่ในใจทุกคน ตามสโลแกนของแบรนด์ ผู้นำนวัตกรรมความสุขสู่ชีวิต (Bring Happiness to Life)”