กางสถิติ 12 ปี 6 ครั้ง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หุ้นตัวไหนรับเอฟเฟ็กต์ อ่วมสุด

ส่องหุ้น

โบรกฯจับตาหุ้นรับเอฟเฟ็กต์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ “KTBST” ชี้เซ็กเตอร์ “รับเหมาก่อสร้าง” หนักสุด-ภาพรวมกระทบไม่มาก ขณะที่ “เอเซีย พลัส” เปิดสถิติปรับขึ้นค่าจ้างรอบ 12 ปี รวม 6 ครั้ง พบหลังปรับ 6 เดือน SET Index บวกขึ้น 0.9% พร้อมกาง “4 เซ็กเตอร์อ่วมต้นทุนพุ่ง” กับ “4 เซ็กเตอร์รับปัจจัยบวก” ด้านผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ มองกระทบแค่บางอุตสาหกรรม

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวถึงกระแสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า หากมีการปรับขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจต้องปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนแรงงานค่อนข้างสูง นั่นคือหมวดก่อสร้าง นอกนั้นจะใช้แรงงานฝีมือ (skilled labor) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหมวดอิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากช่วงเกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 กลุ่มก่อสร้างขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานประเทศเมียนมาเดินทางกลับบ้าน แล้วไม่กลับมา ทำให้ต้นทุนแรงงานกลุ่มรับเหมา ส่วนหนึ่งถูกบวกเพิ่มมาอยู่แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะต้องใช้แรงงานไทย เพราะฉะนั้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้คาดว่าจะกระทบไม่มาก

“คาดว่าต้นทุนค่าแรงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1-2% จากต้นทุนค่าแรงภาคก่อสร้างที่อยู่ประมาณ 9-15% ซึ่งแล้วแต่ธุรกิจ และจริง ๆ แล้วในกลุ่ม skilled labor รัฐบาลก็เพิ่งอนุมัติอัตราค่าจ้างใหม่ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2565 ใน 16 สาขาอาชีพ ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือน ก.ย.นี้ ที่จะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทขึ้นไป” นายมงคลกล่าว

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (2552-2563) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง โดยอัตราการปรับขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับ 3-15 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1-5% (ไม่นับรวมปี 2554) ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุด เมื่อช่วงต้นปี 2563

ค่าแรง

“ปัจจุบันก็ผ่านมาแล้วกว่า 1-2 ปีที่ไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย ถ้าเทียบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ที่ระดับ 5-8% ก็จะถือว่าค่อนข้างสูงกว่า 6 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 331 บาท อัตราการปรับขึ้นค่าแรงจะอยู่ในโซน 17-26 บาท”

อย่างไรก็ตาม ใน 6 ครั้งที่ผ่านมา จะมีการประกาศก่อน หลังจากนั้นจะประกาศวันบังคับใช้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งหลังจากวันประกาศให้มีผลบังคับใช้ประมาณ 1 เดือน พบว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 0.9% โดยในการปรับค่าแรงทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ดัชนี SET Index มีการปรับตัวขึ้นจำนวน 3 ครั้ง และปรับตัวลง 3 ครั้ง สะท้อนปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลลบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยมากนัก

“เซ็กเตอร์ที่ perform ในช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่คาดหวังว่าจะได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1.กลุ่มการแพทย์ (+7.2%) 2.กลุ่มไฟแนนซ์ (+6.3%) 3.กลุ่มประกันภัย (+4.5%) และ 4.กลุ่มท่องเที่ยว (+2.8%) ส่วนเซ็กเตอร์ที่ถูกกดดันหลักคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (-1%) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (-1.4%)” นายภราดรกล่าว

สำหรับเซ็กเตอร์ที่ถูกกระทบหลัก ๆ จะมาจากต้นทุนการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีค่อนข้างสูง แยกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีสัดส่วนต้นทุนแรงงาน 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด 2.กลุ่มเกษตรอาหาร มีสัดส่วนโครงสร้างค่าแรง 1.5-8% ของต้นทุนรวม 3.กลุ่มที่อยู่อาศัย มีสัดส่วนค่าจ้างผ่านผู้รับเหมา 13% ของยอดขาย หรือราว 20% ของต้นทุนรวม และ 4.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนต้นทุนค่าแรง 5-8% ของต้นทุนรวม

“ภาพช่วงสั้น ๆ คงเป็นเซนติเมนต์เชิงลบ เพราะว่าสัดส่วนต้นทุนแรงงานที่สูง และเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างบาง ทำให้ราคาหุ้นจะไม่ค่อย perform และอาจได้รับความน่าสนใจจากนักลงทุนน้อยลง” นายภราดรกล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปกติบริษัทจดทะเบียนไทยแต่ละแห่ง ไม่ได้จ่ายที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะว่าแรงงานไม่เพียงพอมานานมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่รับทราบกันอยู่ แต่ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้คงจะกระทบแค่ในบางอุตสาหกรรม ซึ่งอยากให้นักลงทุนพิจารณาเป็นรายเซ็กเตอร์ประกอบการตัดสินใจลงทุน