ผู้ว่าธปท.มั่นใจการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ช้าไป เหตุเศรษฐกิจต่างจากเพื่อนบ้าน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯธปท. ชี้นโยบายการเงินการคลังผ่อนปรน มีความจำเป็นลดลง ต้องทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ รับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน ย้ำการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ช้าไป เผยให้น้ำหนักความเสี่ยงภาคท่องเที่ยวมากกว่าส่วนต่างดอกเบี้ยที่ตลาดกังวลเงินไหลออก-บาทอ่อน ระบุเม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไป จะทยอยปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy normalization) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น โดยเน้นให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (Smooth takeoff)

ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมีความแตกต่างกัน กุญแจสำคัญของการดำเนินนโยบายของไทย คือการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และไม่ผันผวน (เสถียรภาพด้านราคา) และระบบการเงินทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างราบรื่น

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนปรนมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีความจำเป็นลดลง แต่มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างธุรกิจ SMEs หรือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ยังมีความจำเป็น เพราะการฟื้นตัวแต่ละกลุ่มยังไม่เท่าเทียมกัน เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังดำเนินต่อจนถึงสิ้นปี 66 เป็นอย่างน้อย โดย ธปท.พร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์และบริบทของลูกหนี้

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การปรับทิศทางนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย (gradual and measured) ซึ่งล่าสุด การประชุมวันที่ 10 ส.ค. 65 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 3% และปีหน้าประมาณ 4% จากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นชัดเจน

โดยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ขยายตัว 3.5% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งมาจากรายได้ของแรงงานทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น รวมทั้งจากภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของจีดีพี และ 20% ของการจ้างงานรวม โดยเบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8 ล้านคน เพิ่มจาก 400,000 คนในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนต่อปี

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ แม้จะมีแรงกดดันสูงขึ้น แต่ยังมาจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply side) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันหลายเดือน ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ เงินกองทุนและสภาพคล่องยังสูง

ด้านปัจจัยความเสี่ยง ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป โดยแต่ละประเทศจะมีวัฏจักรเศรษฐกิจแตกต่างกัน ซึ่งเห็นว่าหลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว

ขณะที่ประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัว กลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 (คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปีนี้) นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อมาจากปัจจัยอุปทาน (supply side) เป็นหลัก และความเสี่ยงของการปรับขึ้นค่าจ้างต่อเงินเฟ้อเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) ในไทยค่อนข้างต่ำ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

ดร.เศรษฐพุฒิเสริมว่า ข้อกังวลความเสี่ยงเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้ให้น้ำหนักเป็นความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นหลัก สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 13% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 8% อ่อนค่ากว่าค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่ดีกว่าค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปียังมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนความเสี่ยงบอนด์ยีลด์พุ่งสูงไม่น่ากังวล เพราะระบบเศรษฐกิจไทยทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนพึ่งพาเงินทุนจากระบบธนาคารเป็นหลัก นอกจากนี้ ความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น (Stagflation) มีความเป็นไปได้น้อย แม้สถานการณ์เงินเฟ้อไทยยังสูง แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว