ธปท.รับ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขึ้น” เพิ่มแรงกดดันหนี้เสีย

เงินเฟ้อ

ธปท. ยอมรับ “เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ-ดอกเบี้ย” กดดันหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่ม เห็นสัญญาณลูกหนี้เก่า-ใหม่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ชี้รับมือได้ไม่เหมือนปี’40 มั่นใจมาตรการเพียงพอประคองได้ ยันแบงก์ชาติไม่ได้ห้ามแบงก์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่อยากเห็นทยอยปรับขึ้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 2 ปี 2565 ของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.88% จากไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 2.93% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวและการบริหารจัดการของธนาคารที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่สินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 6.09%

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเอ็นพีแอลแต่ละกลุ่ม พบว่าสินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 2.96% แยกเป็นเอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่ 2.09% และเอ็นพีแอลธุรกิจเอสเอ็มอี 7.04% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเอ็นพีแอลปรับลดลง ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.38% จาก 3.51% บัตรเครดิต 2.68% จาก 2.78% และ สินเชื่อส่วนบุคคล 2.35% จาก 2.49% ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อทรงตัวอยู่ที่ 1.48%

“ยอมรับว่าจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่รวมปัจจัยด้านดอกเบี้ย เนื่องจากยังไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ โดย ธปท.เห็นสัญญาณลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือที่ออกไปแล้วกลับเข้ามาเพิ่มจำนวนหนึ่ง รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่โดนผลกระทบทำให้เข้ารับการช่วยเหลือเพิ่มเติม”

โดยปัจจุบันลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ณ เดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 3.84 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) 1.59 ล้านบัญชี และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 2.25 ล้านบัญชี

โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.90 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นของธนาคารและน็อนแบงก์ 1.94 ล้านล้านบาท และ SFIs 9.6 แสนล้านบาท

“ธปท.มองว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่การปรับเพิ่มขึ้นจะเป็นแบบค่อย ๆ มา ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักกว่านี้ ก็สามารถควบคุมเอ็นพีแอลไว้ได้ คงไม่ได้ตกหน้าผา หรือเกิดขึ้นแบบตูมตามเหมือนในปี 2540 ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และคลินิกแก้หนี้ เหล่านี้จะเป็นการช่วยชะลอการไหลของหนี้ก่อนจะเป็นเอ็นพีแอล หรือการแก้หนี้เอ็นพีแอลด้วย”

สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น มองว่า กนง.มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ซึ่ง ธปท.ไม่ได้ห้ามธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านดอกเบี้ย แต่อยากให้เป็นการทยอยปรับเพิ่มขึ้น เพื่อลดทอนผลกระทบ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมดูแลกลุ่มเปราะบางรายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี

และหากดูผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อสูงถึง 3.6% แต่หากดูผลกระทบดอกเบี้ย 1% ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นราว 0.5% เช่น ครัวเรือนกู้เงิน 1 ล้านบาท ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น 2,500 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 208 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนสินเชื่อรายย่อย พบว่าสัดส่วนประมาณ 60% จะอิงดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เช่น สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และเช่าซื้อ ซึ่งจะมีบางส่วนที่อิงดอกเบี้ยลอยตัว แต่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่เหลือประมาณ 40% จะเป็นกลุ่มดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งอาจจะกระทบในส่วนของลูกหนี้รายใหม่ที่ได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

“ธปท. ไม่ได้บังคับธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของแต่ละธนาคาร รวมทั้งกลไกตลาดและกลยุทธ์ทางธุรกิจ และหากดูกลุ่มลูกหนี้ K ขาบนก็ปรับดีขึ้น ซึ่งอาจจะมีกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอีที่เราพยายามผลักดันให้เจ้าหนี้เร่งช่วยเหลือ” นางสาวสุวรรณีกล่าว

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวด้วยว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ระบบแบงก์พาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,076,600 ล้้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.6% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 909,600 ล้านบาท

โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 166.6% และ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) อยู่ที่ 185.5%