โลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วหรือ?

ตลาดหุ้น
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญมากในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งหนึ่งในตัวแปรในการดูภาวะเศรษฐกิจโลกคือการดูด้านการผลิต ซึ่งเป็นภาคที่มีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

โดยเครื่องชี้เร็วด้านภาคการผลิตดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ โดยดัชนีสร้างมาจากการรวมตัวเลขด้านผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดส่งออก การจ้างงาน ราคาสินค้า และความเชื่อมั่น ซึ่งดัชนีรวมจะสะท้อนทิศทางกิจกรรมด้านการผลิตในระยะข้างหน้า และตัวเลขต่ำกว่า 50 หมายถึงกิจกรรมหดตัว ในขณะที่ตัวเลขสูงกว่า 50 หมายถึงกิจกรรมอยู่ในฝั่งขยายตัว

นอกจากนี้ ตัวเลขยิ่งสูง ยิ่งหมายถึงการขยายตัวที่มาก เมื่อมาดูตัวเลขล่าสุดเดือนกรกฎาคมจะเห็นว่าดัชนีของโลกปรับลดลงจาก 52.2 ในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 51.1 ในเดือนกรกฎาคม และในหลายประเทศตัวเลขเริ่มปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน และเข้าสู่โซนหดตัวอีกด้วย

ถ้ามาเจาะดูประเทศสำคัญอย่างสหรัฐ จะเห็นว่าตัวเลขดัชนีปรับลดลงจาก 52.7 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 52.2 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน และปรับลงต่อในเดือนสิงหาคมไปอยู่ที่ 51.3 และอย่าลืมว่าสหรัฐเองตัวเลขเศรษฐกิจ จีดีพีออกมาติดลบต่อกัน 2 ไตรมาสแล้ว ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

ทางด้านยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อปรับลดลงไปอยู่ที่ 49.7 ในเดือนสิงหาคม ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน และอยู่ในโซนหดตัวติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว ซึ่งยุโรปค่อนข้างเปราะบางมากต่อสถานการณ์ของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จากการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียที่สูง ซึ่งทำให้ราคาก๊าซยุโรปในตลาดล่วงหน้าปรับเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ใหม่ต่อเนื่อง

ทางด้านประเทศอย่างอังกฤษ ดัชนีได้ปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือนเช่นกัน และเศรษฐกิจอังกฤษเองในไตรมาส 2 ติดลบ 0.1%QOQ แล้วอีกด้วย ส่วนทางด้านจีน แม้เห็นการฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน แต่กลับมาชะลอลงในเดือนกรกฎาคมอีก ตามการแพร่ระบาดของโควิดที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งและคลื่นความร้อนที่หลายประเทศกำลังเผชิญ โดยเฉพาะจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาน้ำไม่พอกดดันผลผลิตภาคการเกษตร และบางโรงงานถึงกับจำเป็นต้องดับไฟ ทำให้แรงกดดันต่อภาคอุปทานโลกเพิ่มมากขึ้น

ด้านธนาคารกลางต่าง ๆ อยู่ในช่วงขาขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดของสหรัฐได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 225 bps และใน 2 ครั้งล่าสุด เฟดได้ขึ้น 75 bps ติดต่อกัน ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษได้ขึ้นไปแล้วถึง 150 bps และอีซีบีได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 8 ปี

ที่น่าสนใจมากคือบีโออี เป็นธนาคารกลางแรกที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 4 และจีดีพีจะหดตัวถึง 5 ไตรมาส จากรายได้ที่หดตัวทำให้การใช้จ่ายประชาชนลดลงตาม ซึ่งปัจจุบันไตรมาส 2 ก็หดตัวแล้ว และอนาคตอาจจะแย่ตามที่บีโออีได้คาดการณ์อีกก็เป็นได้

ทางด้านยุโรป วิกฤตด้านอุปสงค์พลังงานที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน และหน้าหนาวกำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ เศรษฐกิจยุโรปจึงอาจกลับเข้าสู่ภาวะซบเซา และแย่ลงได้หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาซ้ำเติมวิกฤตโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาดการณ์มาก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐเรื่องไต้หวันที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัญหาด้านอุปทานจากภัยแล้งที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจไม่ใช่ความเสี่ยงแต่กำลังเกิดขึ้นก็เป็นได้

สำหรับประเทศไทย เราอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากแรงช่วยจากนักท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาดมาก การใช้จ่ายภาคเอกชน และการส่งออก ยังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยของไทยเองยังคงอยู่ในระดับต่ำถึงแม้จะเป็นช่วงขาขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งเหมือนประเทศอื่น ๆ


อย่างไรก็ตาม ไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ และควรระวังและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่ยังฟื้นตัวลำบาก และควรหาทางแก้ไขให้การฟื้นตัวทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงจัดการปัญหาด้านหนี้ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง