ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
คอลัมน์​: นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

หลังจากตัวเลข GDP สหรัฐในไตรมาสที่ 2 พลิกติดลบ 0.9% annualized QoQ ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ติดลบ 1.6% annualized QoQ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ด้วยนิยามว่าหากจีดีพีหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส เท่ากับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ Output gap ของสหรัฐปิดลดลงมาเช่นกัน สะท้อนการถดถอยที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต

Out Put Gap

สาเหตุของการถดถอยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งแน่นอนว่า เกิดจากภาวะวิกฤตอุปทานที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ประชาชนชะลอการใช้จ่ายท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน จนทำให้การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพีสหรัฐชะลอลงต่อเนื่อง และอีกส่วนปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระทบทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวลงค่อนข้างมาก

เฟดทราบหรือไม่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยแรงจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย? หากอ้างอิงจากสถิติที่ผ่านมาก่อนหน้านี้จะพบว่า 14 ครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย 11 ครั้ง หากนับรวมครั้งนี้ จะพบว่าเป็นครั้งที่ 12 จาก 15 ครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เฟดจะไม่ทราบว่าการขึ้นดอกเบี้ยแรงจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย แม้ปัจจุบันจะยังยืนยันว่าในมุมมองของเฟด เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย และสามารถลงจอดแบบ soft landing ได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ที่ 9.1% เฟดไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ แม้จะรู้ว่าปัจจุบันเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว แต่เฟดยังจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาใกล้เป้าหมายที่ 2% พร้อมทั้งเป็นการสร้าง Policy space ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าหลังเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นการเล่นตามบทบาทที่ไม่มีทางเลือกสำหรับเฟดมากนัก เนื่องจากการประเมินผลของเงินเฟ้อต่ำไปในช่วงต้นปี และแรงกดดันมหาศาลจากภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งสหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วมค่อนข้างมากในประเด็นนี้