ส่งออกฝ่าวิกฤต เศรษฐกิจถดถอย จับตา “ตลาดใหม่” จ่ายหนี้ช้า

ส่งออก

กกร.เขย่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ลุ้น GDP โต 3 -3.3% “ท่องเที่ยว” มาแรงหวังกวาดต่างชาติเข้าประเทศ 6-10 ล้านคน ด้านสภาผู้ส่งออกชี้ส่งออกมีโอกาสโต 8% ฝ่าปมร้อน “เทคนิคอลรีเซสชั่นสหรัฐ-จีโอโพลิติก” กดดันตลาดส่งออกหลัก-Emerging market แนะรัฐดูแลค่าบาท 33-34 บาท หอการค้าให้จับตาตลาดใหม่จะ “ผิดนัดชำระหนี้” กระทรวงพาณิชย์ระดมทูตพาณิชย์ทั่วโลก 15 ส.ค. ลุยเพิ่ม 12 ข้อตกลง Mini FTA ดันส่งออกโตตามเป้า 4%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 3 สิงหาคมนี้ จะมีการพิจารณา “ทบทวน” ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายรายการ เพื่อให้สอดรับสถานการณ์และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง โดยก่อนหน้าทาง กกร.ได้ยึดตัวเลข GDP ปี 2565 จะขยายตัว 2.5-4.0% แต่มีบางส่วนมองว่า อาจจะโตได้เพียง 2.75%

ล่าสุดประเมินว่า GDP มีโอกาสขยายตัว 3.0-3.3% เป็นผลจากเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ 2 ตัวคือ การท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเอกชนมองว่าปีนี้ไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว 6-8 ล้านคน แต่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่าอาจจะมีถึง 10 ล้านคน ประกอบกับแรงหนุนจากค่าบาทอ่อนค่าลง 37 บาท ก็จะมีผลทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเศรษฐกิจได้มากขึ้น

เทคนิคอลรีเซสชั่นทุบส่งออก

ขณะที่รายได้จากภาคการส่งออกนั้น เดิม กกร.คงจะยึดเป้าหมายขยายตัว 5-7% แต่ขณะนี้เท่าที่ประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวไปแล้ว 12% หากในช่วงครึ่งปีหลังไทยสามารถผลักดันการส่งออกขยายตัวได้เฉลี่ย 5-6% ก็จะมีผลทำให้ตัวเลขภาพรวมการส่งออกไทยสามารถขยายตัวถึง 8-9% หรือ “สูงเกินกว่า” เป้าหมายของ กกร. อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะการเกิดปัญหาเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐ ที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทยจนทำให้เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ “ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession)” ซึ่งประเด็นนี้ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ยังส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกด้วย โดยค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสจะขยับแข็งค่าขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้ “ค่าบาทอ่อนค่าลง ขณะนี้อ่อนค่าไปแล้ว 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” จากก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาค่าบาทแข็งค่า จนทำให้ภาคเอกชนมีข้อเสนอรัฐบาลให้ช่วยดูแลค่าบาทอยู่ที่ 33-34 บาท เพื่อความสมดุลทั้งฝั่งส่งออกจะได้ประโยชน์ และฝั่งผู้นำเข้าวัตถุดิบก็จะไม่กระทบมากจนเกินไป

“ตอนนี้จะเห็นว่า ฝั่งส่งออกและท่องเที่ยวอาจจะได้โบนัสถึง 3 บาท แต่ฝั่งนำเข้าพลังงานกำลังประสบปัญหา นำมาสู่การขาดดุลการค้าครึ่งปีแรก 270,000 ล้านบาท แต่ที่เรายังไม่ได้กังวลเรื่องดุลการค้า เพราะไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าอยู่ในระดับสูง”

ปัญหาการส่งออกอีกด้านก็คือ “ตลาดใหม่ (emerging market)” ที่ไทยต้องการหันไปพึ่งพาเพื่อช่วยชดเชยตลาดหลัก ทั้งสหรัฐ-สหภาพยุโรป ที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อและ recession แต่ตลาดใหม่ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตจากปัญหาราคาพลังงานและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น

ขณะนี้เริ่มจะเห็นตลาดใหม่หลาย ๆ ประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรง เช่น ศรีลังกา, ปากีสถาน, เมียนมา เจอกับปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมือง นั่นทำให้การส่งออกไทยในปีหน้าคาดการณ์ได้ยาก และหากในครึ่งปีหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ลดแรงกดดันเงินไทยที่ปรับขึ้นไปเกิน 7% ก็จะมีผลต่ออัตราเปลี่ยนอีกด้วย

จีโอโพลิติก สหรัฐ-จีน ภาษีสินค้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่กำลังตามมาก็คือ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (จีโอโพลิติก) ซึ่งยึดโยงกับนโยบายเศรษฐกิจ ไม่เพียงปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ แต่ขณะนี้ปัญหาระหว่างสหรัฐ-จีนก็มีความอ่อนไหว แม้ว่าจะมีการจับตามองกรณีนางแนนซีเยือนไต้หวันว่า อาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีนได้ แต่อีกด้านหนึ่งสหรัฐอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกเข้าไป เพื่อลดแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ หากข้อสรุปเรื่องการลดภาษีออกมาจะกระทบต่อการส่งออกไทยโดยเฉพาะรายการสินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกแข่งขันกับจีน

“โอกาสที่สหรัฐจะลดภาษีสินค้าให้จีนเป็นไปได้สูง การเมืองสหรัฐ-ไต้หวัน-จีนก็ส่วนหนึ่ง แต่เพราะนโยบายเศรษฐกิจขณะนี้ชั่งน้ำหนักเรื่องผลประโยชน์ที่สหรัฐจะได้รับเป็นหลัก หากลดแล้วช่วยแก้เงินเฟ้อได้ ก็มีโอกาสที่เข้าจะลดลง คนส่งออกก็จะกระทบ”

ผวารีเซสชั่น-ผิดนัดชำระหนี้

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลและสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐกับยุโรป ที่ดูเหมือนว่าจะเกิด recession จากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศ เพื่อดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจภายหลังจากใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ยังต้องจับตามองเศรษฐกิจจีนที่คาดการณ์จะชะลอตัวจากที่มีมาตรการ Zero COVID และการ lockdown ในเมืองต่าง ๆ เพื่อสกัดการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนอาจไม่สามารถจะเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น ประเด็นเหล่านี้จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาดส่งออก กลุ่มตลาดใหม่ หรือ emerging market ด้วย โดยจะทำให้หลายประเทศเข้าขั้นวิกฤต ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ศรีลังกาหรือ สปป.ลาว ซึ่งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้กระจายอยู่ในหลายส่วนของโลก และกำลังเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่จะเกิดการ “ผิดนัดชำระหนี้” จากที่เงินสำรองระหว่างประเทศมีไม่มากนักและต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นในการส่งออกไทยไปตลาดใหม่ หากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น แต่อาจต้องระมัดระวังเรื่องการชำระเงินกันบ้าง สำหรับคู่ค้าที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยง ซึ่งไทยจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและสร้างโอกาสของการส่งออกให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนของไทยยังมีความพร้อมเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังสูงระดับต้น ๆ ของโลก ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะไทยยังสูงกว่า 60% ต่อ GDP เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมาก ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเชื่อว่าจะดีขึ้นได้เมื่อภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา และภาคการส่งออกยังเป็นส่วนสำคัญที่เติบโตได้ต่อเนื่อง” นายสนั่นกล่าว

สอดคล้องกับนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2565 จะขยายตัว 6-8% จากก่อนหน้าที่วางไว้ 5.8% และหากส่งออกเฉลี่ยได้ 23,190 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือนจะขยายตัว 6% มูลค่า 288,000 ล้านเหรียญ แต่หากส่งออกเฉลี่ย 24,097 ล้านเหรียญ/เดือนได้จะทำให้ส่งออกทั้งปี 8% มูลค่า 293,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ “ชิป” ได้ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 10% ขณะเดียวกันต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ 34 บาทต่อเหรียญ และน้ำมันดิบ 100-115 เหรียญ/บาร์เรล

ส่วนปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงาน “จะทรงตัวในระดับสูง” จากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียยืดเยื้อ ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกด้วย ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่า ประเทศพัฒนาเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ส่งผลต่อค่าครองชีพกำลังซื้อชะลอตัว ปัญหาค่าระวางยังทรงตัวสูง และมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันบางเส้นทาง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช (ข้าวสาลี-ถั่วเหลือง-ข้าวโพด-เมล็ดทานตะวัน), แป้งสาลี, อาหารสัตว์, ปุ๋ย และราคาวัตถุดิบปรับราคาสูง

ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ เช่น ปากีสถาน-สปป.ลาว จะยังไม่กระทบต่อการส่งออกไทย เพราะยังมีสัดส่วนไม่สูง อย่างไรก็ตาม ไทยต้องรักษาคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะอินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียน ซึ่งมีโอกาสส่งออกทั้งปีของไทยได้

พร้อมกันนี้ สรท.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค และขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งออกแคมเปญช่วยเติมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก ขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างโอกาสทางการในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เช่น CLMV รวมถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อิรัก เป็นต้น และรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

ถกทูตพาณิชย์ดัน Mini FTA

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั้ง 58 แห่งทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ ก่อนจะกำหนดแผนงานในการผลักดันและลดปัญหาอุปสรรคการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันการส่งออกขยายตามเป้าหมาย 4% จากครึ่งปีแรกที่ทำได้ 12.7%

“แผนครึ่งปีหลังจะมีการขยายการทำข้อตกลง Mini FTA เพิ่มขึ้นให้ได้ 12 ฉบับ จากปัจจุบันที่ทำไปแล้ว 5 ฉบับ (มณฑลไห่หนาน/มณฑลกานซู่ จีน-เมืองโคฟุ ญี่ปุ่น-รัฐเตลังกานา อินเดีย-เมืองปูซาน เกาหลีใต้) โดย FTA ฉบับต่อไปก็จะขยายไปเมืองเป้าหมาย ทั้งจีน อินเดีย เกาหลีใต้เพิ่มเติมอีก โดยกระทรวงพาณิชย์จะมุ่งรักษาการส่งออกทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกของสินค้าไทยให้เพิ่มขึ้น” นายภูสิตกล่าว