ก.ล.ต. เตรียมส่งเรื่อง อัยการ ฟ้องคดีศาลแพ่ง ซีทีโอ “บิทคับ” โทษอัตราสูงสุด

Bitkub

ก.ล.ต. เตรียมส่งเรื่อง “อัยการ” ฟ้องคดีศาลแพ่ง ซีทีโอ “บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี” อัตราโทษสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ หากไม่ยินยอมการกระทำผิด

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเค็นดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

ซึ่งจากผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) และบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BCGH) ได้เริ่มเจรจาการซื้อขายหุ้นของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และในระหว่างวันที่ 4 กันยายน-2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว นายสำเร็จดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัท BBT ได้มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1,994,966.56 บาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายในดังกล่าว

การกระทำของนายสำเร็จ เป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

ต่อมาทางบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ขอแจ้งข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “Bitkub Chain” ว่า นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตามปกติจนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนการทางกฎหมาย โดยบริษัทจะติดตามและเรียนแจ้งให้ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทราบต่อไป

จากกรณีดังกล่าวบริษัทขอยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนการพัฒนาเครือข่าย Bitkub Chain และการดำเนินการของบริษัท ไม่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

และต่อมาด้านนายสำเร็จ วจนะเสถียร ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า “Samret Wajanasathian” เพื่อชี้แจงข้อมูลทั้งหมดว่า ผมรู้กฎหมายเรื่อง Insider trading เป็นอย่างดีว่าเวลาผมทำโปรเจ็กต์ ผมก็จะซื้อ KUB ไม่ได้ ดังนั้นผมจะมีช่วงเวลาสั้น ๆ หลังโปรเจ็กต์เปิดตัวและยังไม่ได้เริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ที่ผมจะลงทุนซื้อ KUB ได้

โดยก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าว ผมอยากซื้อ KUB ในราคาที่ต่ำกว่า 30 บาท แต่ซื้อไม่ได้เนื่องด้วยผมทำโปรเจ็กต์ Morning Moon ก่อนหน้านี้ สุดท้ายผมรอโปรเจ็กต์ Morning Moon เปิดตัว เลยต้องซื้อ KUB ได้ที่ราคา 30-32 บาท เพราะหากไม่ซื้อภายในช่วงเวลาดังกล่าว ผมก็จะต้องเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ และจะทำให้ผมไม่สามารถซื้อ KUB ได้อีกนาน

ส่วนเวลาก่อนหน้านี้ก็ซื้อเพื่อแลกเป็นค่าธรรมเนียมการเทรดใน Exchange ทันที ช่วงเวลาที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ผมเป็นผู้บริหาร BBT ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ Exchange ดังนั้นผมกล้าพูดได้ว่า ผมไม่รู้เรื่อง SCB ดีลใด ๆ ทั้งสิ้น

ถ้าผมรู้ ผมคงขาย WAN, SNT, BNB, Ethereum ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 4 ล้านบาทแล้ว และคงลงเงินกับ KUB ไปให้หมดไปแล้ว ซึ่งจำนวนเงินที่ผมลงทุนใน KUB ก็ใกล้เคียงกับเหรียญอื่น ๆ ที่ผมมีส่วนตัวแล้วเป็นจำนวน 60,000 KUB ผมมองว่าจำนวนไม่ได้ผิดแปลก แต่เป็นความบังเอิญที่เป็นเวลาที่ทำดีลกันพอดี

การซื้อเหรียญ KUB ของผมมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าหากผมซื้อเหรียญ KUB โดยมีเจตนาที่จะมุ่งหวังทำกำไรระยะสั้นแล้ว ผมคงเทขายเหรียญ KUB ทั้งหมดเพื่อทำกำไรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผมยังไม่ได้ขายเหรียญ KUB ดังกล่าว เพื่อทำกำไรแต่อย่างใด จนถึงวันนี้ที่ผมพิมพ์ (30 ส.ค. 65) มีส่วนหนึ่งที่เอาไปแลกค่าธรรมเนียมการเทรดใน Exchange เท่านั้น

เรื่องราวทั้งหมด ผมได้บอก ก.ล.ต.แล้ว แต่ทาง ก.ล.ต.ก็ยังตัดสินลงโทษอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าผมกระทำผิด ผมจึงจะขอต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ผมขอยืนยันว่าผมบริสุทธิ์ใจ และยืนหยัดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของ Bitkub Chain ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดีและได้มาตรฐานเพื่อให้คนไทยได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ ก.ล.ต.เปิดเผยว่า หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมเข้ามาเปรียบเทียบปรับตามช่วงเวลาดังกล่าว กระบวนการต่อไป ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่สูงสุดที่กฎหมายบัญญัติต่อไป โดยค่าปรับจะไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ.กำหนด

ซึ่งคดีนี้ ก.ล.ต.ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ที่ได้มีการหารือแนวทางการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง