กอบศักดิ์ เตือน EM “สะสมพลัง….รอปะทุ เป็นวิกฤต” ลามถึงไทย จี้เตรียมรับมือ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ จับสัญญาณเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก ชี้อยู่ระหว่าง “สะสมพลัง….รอปะทุ เป็นวิกฤต” เตือนหากเกิดปัญหาลามกระทบไทย แนะเตรียมตัวรับมือแต่เนิ่น ๆ

วันที่ 1 กันยายน 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” (https://www.facebook.com/drkobsak) วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยสรุปว่า เป็นการ “สะสมพลัง….รอปะทุ เป็นวิกฤต”

“บทความนี้อาจจะเขียนเร็วไป 1 ปี แต่จากที่ดูข้อมูลแล้ว สถานการณ์ในกลุ่ม Emerging Market เริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ เริ่มมีคนเข้าคิว ที่จะเดินตามรอยศรีลังกาไปทีละคน พร้อมลุกลามต่อไป กลายเป็นวิกฤตที่กระทบ Emerging markets ทั้งหมด”

จับตาปากีสถาน ระดับเดียวกับศรีลังกา

โดยคนในคิวล่าสุด ได้แก่ “ปากีสถาน” ที่มีเงินสำรองเหลือประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) เท่ากับประมาณ 1.4 เดือนของสินค้านำเข้า หรืออยู่ในระดับเดียวกับศรีลังกา !!! ทำให้ต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  ซึ่งล่าสุดได้มา 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ CDS ที่เป็นราคาของการประกันความเสี่ยงไม่ผิดนัดชำระหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 5,000 เทียบกับประเทศปกติ ๆ ที่อยู่ที่ต่ำกว่า 100 !!! สะท้อนถึงความกังวลใจของนักลงทุน

“ซ้ำร้าย (ปากีสถาน) กำลังมีน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้ 1/3 ของพื้นที่ของประเทศจมน้ำ สร้างความเสียหายนับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อหมดน้ำท่วม ความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็จะตามมา ด้วยเงินที่มีจำกัด วิกฤตที่อยู่ข้างหน้า การช่วยเหลือประชาชนก็จะเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน เป็นชนวนนำไปสู่การประท้วง ลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองของประเทศต่อไปได้”

ขณะที่ “เมียนมา” ต้องปรับลดค่าเงินอีกรอบ จาก 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์มาเป็นประมาณ 2,100 จ๊าต/ดอลลาร์ แต่ในตลาดมืด ล่าสุดซื้อขายกันที่ 3,500 จ๊าต/ดอลลาร์ อ่อนลงไปมากเมื่อเทียบกับ 1,350 จ๊าต/ดอลลาร์เมื่อต้นปี 2021

ด้าน “สปป.ลาว” ก็กำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้น จากต่ำกว่า 15,000 กีบ/ดอลลาร์เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ล่าสุดมาอยู่ที่ 15,386 กีบ/ดอลลาร์ เทียบกับ 9,300 กีบ/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า ในภูมิภาคอื่นของโลก ก็กำลังมีปัญหาเช่นเดียวกัน โดย “อียิปต์” กำลังถูกนักลงทุนจับตามอง มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในรอบ 5 ปี ค่าเงินอียิปต์ที่ต้องลดค่าจาก 15.7 ปอนด์/ดอลลาร์ มาที่ 18.5 ปอนด์/ดอลลาร์ เมื่อมีนาคมนี้ ล่าสุดยังอ่อนต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 19.2 ปอนด์/ดอลลาร์

ขณะที่ “เอลซาวาดอร์” (ประเทศแรกของโลกที่รับเงินคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน) ก็กำลังมีปัญหาหนัก ล่าสุด ถ้ารัฐจะกู้ยืม ออกพันธบัตรใหม่ ต้องจ่ายดอกเบี้ย +24% จากฐานดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐ CDS ของประเทศอยู่ที่หลัก 2,700-3,400 ซ้ำร้ายเงินที่รัฐบาลเอาไปลงทุนไว้ในคริปโต ก็เสียหายหนัก เช่นกัน

ต่อมา “อาร์เจนตินา” เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 70% ค่าเงินอ่อนยวบมาอยู่ที่ 139 เปโซ/ดอลลาร์ จาก 83 เปโซ/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021 โดยในอดีต ค่าเงินอาร์เจนตินาเคยอยู่ที่ 1 เปโซ/ดอลลาร์ เมื่อปี 2000
อีกประเทศ “ชิลี” ซึ่งเป็นประเทศที่ดูแลเศรษฐกิจของตนเองดีที่สุดในละตินอเมริกาล่าสุด ก็กำลังประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 8.5% ของ GDP ค่าเงินผันผวนจาก 800 เปโซ/ดอลลาร์ อ่อนไปที่ 1,050 เปโซ/ดอลลาร์

ก่อนที่ทางการจะต้องใช้ 10% ของเงินสำรอง หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าดูแล แม้อาจไม่เสี่ยงเท่ากับประเทศอื่น ๆ แต่การที่ประเทศชั้นนำระดับชิลี มาอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุน สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังก่อตัว

“ทั้งหมดนี้ ขอบอกว่า เลือกสรรมาให้ดูเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จากสภาพที่เห็น ต้องบอกว่า โลกมีปัญหาความอ่อนแอ ซุกซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ อีกพอสมควร ไฟกำลังค่อย ๆ ลามทุ่ง อย่างช้า ๆ จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง

จากที่เคยคิดว่า ศรีลังกาเป็นเพียงลูกโดด เป็นกรณีเฉพาะ ตอนนี้ ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายประเทศ ที่กำลังค่อย ๆ อ่อนแรง ค่อย ๆ เซ ทีละนิด โดยปัญหากำลังสะสมพลังในจุดต่าง ๆ รอเวลาที่จะปะทุขึ้น กระจายขึ้นเป็นวงกว้าง”

ดร.กอบศักดิ์ชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลใจสุดในเรื่องนี้ก็คือ ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) “เพิ่งจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย” ปรับขึ้นมาแค่ 4 ครั้ง จาก 0-0.25% มาที่ 2.25-2.5% เท่านั้น ยังคงต้องขึ้นอีกพอสมควร กว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ดอกเบี้ยจะขึ้นไป และเฟดยังต้องทำ QT ดึงสภาพคล่องกลับไปพร้อม ๆ กันอีก

“คิดไม่ออกว่าประมาณ 1 ปีให้หลัง เมื่อเฟดจ่ายยาครบ ขึ้นดอกเบี้ยไปเต็มที่ แล้วคงดอกเบี้ยในระดับสูงไปอีกระยะ จนกว่าเงินเฟ้อสยบ เมื่อความกลัวเริ่มปกคลุมนักลงทุน เมื่อประเทศ Emerging Market บางส่วนมีเงินสำรองถดถอยไปมาก จากเงินที่ไหลออก ต้องเริ่มวิ่งไปหา IMF เมื่อเฟดบอกว่า ถ้าประเทศไหนจะเกิดวิกฤต ก็เป็นเรื่องของประเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องเฟด จะเกิดอะไรขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าว”

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ระบุด้วยว่า ขอเตือนว่า Emerging Market Crisis รอบนี้ จะต่างจากรอบอื่น ๆ ในอดีตที่เคยเจอมา Eastern European Crisis ในปี 2008, Asian Financial Crisis ในปี 1997 หรือ Latin American Debt Crisis ในปี 1980 ที่เกิดเป็นจุด ๆ เป็นพื้นที่ แต่รอบนี้ เมื่อดูจากการคุกรุ่นของปัญหา จากควันไฟที่ก่อตัว เมื่อปัญหาสุกงอมเต็มที่ วิกฤตจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ลุกลามเป็นทวีป ๆ เช่นในอดีต หมายความว่า ปัญหาจะวนมากระทบทุกคนใน Emerging Market รวมถึงไทย

“ทางออกที่เรามี ก็คือ ต้องใช้เวลาที่เหลือเตรียมการให้พร้อม สร้างภูมิคุ้มกันให้ดี ประเภท ถ้าฝนจะมา ก็เตรียมร่ม เตรียมเสื้อกันฝน เตรียมเก็บข้าวของให้พร้อม คนที่เตรียมการดี ก็จะเสียหายน้อย พร้อมสามารถที่จะหยิบฉวยโอกาสที่เปิดขึ้นได้ ทั้งนี้ เรามีเวลาจำกัด อย่าให้เวลาที่เหลืออยู่ ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์” ดร.กอบศักดิ์ระบุ