เปิดเงื่อนไข IMF ให้ศรีลังกากู้ 1 แสนล้าน แก้มหาวิกฤตเศรษฐกิจ

IMF ให้ศรีลังกากู้
President Ranil Wickremesinghe is meeting with the senior mission chief for Sri Lanka of the International Monetary Fund (IMF) Peter Breuer / AFP PHOTO

IMF ให้ศรีลังกากู้ 2,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 แสนล้านบาท มาพร้อมเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด

วันที่ 1 กันยายน 2565 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แถลงเงื่อนไขการให้เงินกู้จำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 106,000 ล้านบาท แก่ศรีลังกา ประเทศที่ประสบวิกฤตจนประเทศล้มละลาย ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง เกิดการลุกฮือขับไล่ผู้นำตระกูลราชปักษาออกนอกประเทศ

“ศรีลังกาเผชิญวิกฤตร้ายแรง คนยากจนและกลุ่มเปราะบางต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ไอเอ็มเอฟระบุ หลังจากชาวศรีลังกาต้องอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร ยา พลังงาน ไฟฟ้าดับนาน เงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน ขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศจนไม่มีเงินซื้อสินค้ามานานหลายเดือนแล้ว

นายปีเตอร์ เบราเออร์ หัวหน้าทีมเจรจาของไอเอ็มเอฟ ร่วมแถลงข่าวกับรัฐบาลศรีลังกา เมื่อ 1 ก.ย. 2022 (Photo by Ishara S. Kodikara / AFP)

ข้อตกลงการให้เงินกู้ดังกล่าวผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับไอเอ็มเอฟ ที่กรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ต่อเนื่องมา 9 วัน และจากนี้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากบอร์ดไอเอ็มเอฟ ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดให้ศรีลังกาต้องปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล 51,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.87 ล้านล้านบาท

แถลงการณ์ไอเอ็มเอฟระบุว่า วัตถุประสงค์ของโครงการให้เงินทุนสนับสนุนก้อนใหม่ คือการฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและความยั่งยืนของหนี้

สำหรับความยั่งยืนของหนี้ (debt sustainability) หมายถึง ผู้กู้สามารถจ่ายคืนเงินต้น ดอกเบี้ย หรือทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้

“ความยั่งยืนของหนี้ และข้อตกลงที่มีเจตนาอันดีของผู้ให้กู้ยืม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี ก่อนที่ผู้ให้กู้ยืมจะส่งมอบความช่วยเหลือ” ไอเอ็มเอฟระบุ

การประท้วงรัฐบาลยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะในกรุงโคลอมโบ (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

สำหรับจีน ประเทศผู้ให้เงินศรีลังกากู้ยืมสูงสุด หรือราว 10% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ถึงตอนนี้ย้งไม่ได้ให้ข่าวว่าจะเปลี่ยนข้อเสนอใด ๆ หลังจากเสนอที่จะให้ศรีลังกากู้ยืม แทนที่จะตัดลดสินเชื่อที่มีอยู่

เบื้องต้นนี้ ไอเอ็มเอฟเผยว่า ศรีลังกาตกลงที่จะเพิ่มการหารายได้ ยกเลิกเงินอุดหนุน ปรับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราให้ยืดหยุ่น รวมถึงเริ่มสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศขึ้นใหม่

ด้านนายรานิล วิกรามาสิงหะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศเพิ่มการขึ้นภาษี เร่งการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ดึงหนี้มาอยู่ในการควบคุม โดยก่อนหน้านั้น รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า เลิกกองทุนอุดหนุนพลังงานไปก่อนที่จะตกลงกับไอเอ็มเอฟแล้ว

กลุ่มนักศึกษาประท้วงรัฐบาลศรีลังกา (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มต้นมาจากเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ ไม่มีจะไปซื้อสินค้าที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่สะเทือนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก ส่วนแรงงานที่เคยไปทำงานต่างประเทศก็หยุดชะงัก

ช่วงที่ตระกูลราชปักษาครองอำนาจ ถูกวิจารณ์ว่าบริหารจัดการผิดพลาดร้ายแรง ไปตัดลดภาษี เพิ่มหนี้ให้รัฐ ยิ่งทำให้วิกฤตสาหัสกว่าเดิม

ตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อเดือนสิงหาคมทะยานขึ้นไปจนราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มเฉลี่ย 64.3% ส่วนค่าเงินรูปีศรีลังกา อ่อนค่าจากปีก่อนหน้าแล้วมากกว่า 45%