SCB ชี้ 3 ปัจจัย “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-เศรษฐกิจถดถอย” กดดันการลงทุนต่อเนื่อง

หุ้น

ผู้อำนวยการอาวุโส SCB CIO ชี้ 3 ปัจจัยเงินเฟ้อพุ่ง-ดอกเบี้ยสูง และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย คอยกดดันภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต

วันที่ 7 กันยายน 2565 นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะข้างหน้ายังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความผันผวน จากประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้ออาจจะเห็นการชะลอตัวลง อย่างในสหรัฐที่เงินเฟ้อล่าสุดลดลงจาก 9.1% ลงมาอยู่ที่ 8.5% ซึ่งบางตลาดอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่เงินเฟ้อสหรัฐเริ่มลดลง แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็พยายามจะบอกว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการคือตัวเลขเงินเฟ้อที่ 2%

ฉะนั้นเรื่องของเงินเฟ้อสูงก็นำมาซึ่งประเด็นเรื่องของดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จากการที่เฟดพยายามยืนยันที่จะรักษาการขึ้นดอกเบี้ยไว้เพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยจากเดิมในช่วงต้นปีที่คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปีอยู่ที่ 0.5-1% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.5-3.6%

ฉะนั้นจะเห็นว่าการปรับการคาดการณ์ของดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมันวิ่งขึ้นมาตลอด และจะค้างอยู่แบบนี้ไปสักระยะ นอกจากนี้ภาพสำหรับการลงทุนนอกจากประเด็นเงินเฟ้อสูง ประเด็นดอกเบี้ยสูง ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจถดถอยปัจจุบันมองว่าตอนนี้เป็นแค่ความเสี่ยงที่จะเกิด เพราะเวลาที่ตลาดมองว่ามีความเสี่ยงถดถอยหมายถึงอาจจะเกิดขึ้นในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า แต่ว่าด้วยภาวะดอกเบี้ยและเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ทำให้คำว่าเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยเข้ามาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความกดดันและน่าจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่งเช่นกัน

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ

อย่างไรก็ตาม มองว่าโอกาสในการเกิดเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าในประเทศแถบยุโรป ละตินอเมริกา ตามด้วยสหรัฐ ในขณะที่โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในแถบเอเชียยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากเพิ่งมีการเปิดประเทศ นอกจากนี้อยากให้นักลงทุนทำความเข้าใจว่า ระหว่างเศรษฐกิจถดถอยกับผลประกอบการถดถอยแตกต่างกัน ซึ่งหากดูในแง่ของการลงทุนภาพเศรษฐกิจจะมีทั้งการบริโภค การลงทุน การนำเข้า ส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐหรือว่าสินค้าคงคลัง

ดังนั้นเศรษฐกิจเมื่อมีการชะลอตัวหรือมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดภาวะถดถอย ในแง่ของการลงทุนเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องมีการปรับตัว จะเห็นได้จากเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ถึงแม้จะมีความเสี่ยงถดถอยของเศรษฐกิจและผลประกอบการในบริษัทคงยังโตต่อเนื่อง

“ฉะนั้นในภาพของเศรษฐกิจนักลงทุนคงต้องระวังไว้ แต่ในแง่ของการลงทุนคงต้องไปดูที่ตัวผลประกอบการที่รายงานออกมาว่าสามารถปรับตัวได้ไหม หรือว่าไม่สามารถปรับตัวได้” นายกำพลกล่าว