ซีพีแบกหนี้ หุ้นกู้ 8 แสนล้าน ขยายอาณาจักร-รีไฟแนนซ์โลตัส

หุ้นกู้

ธุรกิจเดินหน้าระดมทุนออก “หุ้นกู้” รีไฟแนนซ์-ตุนสภาพคล่องรุกลงทุนรับเศรษฐกิจฟื้น เผย 8 เดือนแรก หุ้นกู้ออกใหม่กว่า 8.74 แสนล้านบาท จับตา “กลุ่มซีพี” แชมป์ขายหุ้นกู้ปีนี้กว่า 1.47 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้หุ้นกู้คงค้างเฉียด 8 แสนล้านบาท

ล่าสุดบอร์ด “โลตัส” น้องใหม่ในเครือเจ้าสัว อนุมัติแผนออกหุ้นกู้ 95,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างการเงินแทนกู้แบงก์ ฟากแบงก์กรุงไทยเผยเทรนด์ “หุ้นกู้ดิจิทัล” ผ่านแอปเป๋าตังมาแรง หนุนรายย่อยลงทุนแทนฝากแบงก์ เปิดข้อมูล 10 บริษัทขายหุ้นกู้สูงสุดปีนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นธุรกิจยักษ์ใหญ่เร่งระดมทุนเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน ทดแทนการใช้เงินกู้สถาบันการเงินมากขึ้น โดยปีนี้พบว่ามีธุรกิจเลือกใช้วิธีการเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก โดยกระจายในหลายอุตสาหกรรม

โดย 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีการเสนอขายหุ้นกู้มากสุดในช่วงครึ่งปีแรกคือกลุ่มพลังงาน, อสังหาริมทรัพย์, ปิโตรเคมี, ธุรกิจการเงิน และธุรกิจโทรคมนาคม โดยมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทนอกตลาด

8 เดือนขายหุ้นกู้ 8.7 แสนล้าน

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยฯ สมาคมตลาดตราสารหนี้ (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ระดมทุนออกตราสารหนี้ระยะยาวหรือ “หุ้นกู้” เพื่อล็อกต้นทุน โดยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) พบว่ามูลค่าออกหุ้นกู้ใหม่แล้วกว่า 873,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 147,918 ล้านบาท หรือเติบโต 20.38%

เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/65 จะมีหุ้นกู้ครบดีลอีกประมาณ 219,422 ล้านบาท โดยปี 2564 ทั้งปีมีการออกหุ้นกู้มูลค่า 1.035 ล้านล้านบาท

สำหรับช่วงที่้เหลือของปีนี้คาดว่าภาคเอกชนยังมีความต้องการระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ได้เร่งออกจากความกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น โดยจะเป็นการขยายการลงทุนและมองเห็นโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้มีบริษัทใหม่ (newcomer) ที่เข้ามาระดมทุนออกหุ้นกู้มากกว่า 10 บริษัท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วเท่าตัว และกระจายอยู่ในหลายเซ็กเตอร์ ซึ่งสะท้อนว่าการฟื้นตัวค่อนข้างมีความกระจายตัว

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่าหุ้นกู้รุ่นอายุตั้งแต่ 7ปีขึ้นไป มีการออกเพิ่มขึ้นมาก และเป็นทิศทางไปจนถึงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงเทรนด์ที่บริษัทมีการออกหุ้นกู้เสนอขายประชาชนทั่วไป (PO) มากขึ้น โดยสมาคมคาดการณ์ว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2022 จะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้าน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

10 บริษัทขายหุ้นกู้สูงสุดปี’65

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัทที่มีการออกเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ในปี 2565 จำนวน 10 อันดับแรก อ้างอิงข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) นับตั้งแต่ต้นปีถึงล่าสุด (5 ก.ย. 2565 ) อันดับ 1 บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC มูลค่าขายหุ้นกู้ 60,000 ล้านบาท 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มูลค่า 59,000 ล้านบาท

3.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มูลค่า 55,000 ล้านบาท 4.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TURE มูลค่า 52,500 ล้านบาท 5.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มูลค่า 40,000 ล้านบาท

6.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มูลค่า 26,875 ล้านบาท 7.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มูลค่า 22,573 ล้านบาท

8.บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC มูลค่า 22,153 ล้านบาท 9.บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC มูลค่า 22,152 ล้านบาท และ 10.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT มูลค่า 18,735 ล้านบาท

ซีพีแบกหนี้หุ้นกู้เฉียด 8 แสนล้าน

แหล่งข่าวในแวดวงการเงินกล่าวว่า หากมองในภาพรวม เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี อาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ถือว่ามีการใช้ช่องทางระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นกู้มากที่สุด ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้พบว่ามีการเสนอขายหุ้นกู้ไปแล้วราว 147,800 ล้านบาท

ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่หันมาระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นกู้มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยจะพบว่าสัดส่วนหนี้สินที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนเงินกู้ของสถาบันการเงินจะลดลง

โดยพบว่ามีหนี้สินที่เป็นหุ้นกู้คงค้าง (Outstanding) รวมกว่า 794,000 ล้านบาท มาจาก 6 บริษัทหลักประกอบด้วย 1.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven จำนวน 240,000 ล้านบาท 2.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร จำนวน 138,000 ล้านบาท

3.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TURE ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 175,000 ล้านบาท 4.บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย จำนวน 106,000 ล้านบาท

5.บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPFTH ธุรกิจสัตว์บกแบบครบวงจรในประเทศไทย 89,000 ล้านบาท และ 6.บริษัท MQDC ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร อีกจำนวน 46,000 ล้านบาท (ทั้งนี้ MQDC ไม่ได้เป็นบริษัทลูกซีพีที่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นบริษัทของลูกสาวเจ้าสัวธนินท์ คือนางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์)

“โลตัส” ขายหุ้นกู้ครั้งแรก

นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ “โลตัส” (Lotus’s) ซึ่งบริษัทไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และถือเป็นบริษัทน้องใหม่ในเครือซีพี ได้ยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาวให้กับนักลงทุนรายใหญ่และสถาบันจำนวน 4 รุ่น

ประกอบด้วยอายุ 1 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยรอประกาศ, อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.00-3.25% ต่อปี, อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.30-3.55% ต่อปี, อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.75-4.00% ต่อปี อันดับความเชื่อถือของหุ้นกู้ “A+” แนวโน้ม “คงที่” โดยบริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด โดยคาดว่าจะเสนอขายวันที่ 17-19 ตุลาคม 2565

นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย เปิดเผยว่า การออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้ลงทุนที่จะได้ลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มีโอกาสเติบโตอย่างมีศักยภาพในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ออกหุ้นกู้ 9.5 หมื่นล้านรีไฟแนนซ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า โลตัสถือเป็นน้องใหม่ในกลุ่มซีพีที่เข้ามาระดมทุนเสนอขายหุ้นกู้ ทั้งนี้ จากเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2564 บริษัทได้ทำสัญญาเงินกู้ระยะยาวกับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ

วงเงิน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 84,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทำให้บริษัทอาจมีความเสี่ยงจากการจัดหาเงินทุนจำนวนมากเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวตามกำหนดสัญญา

บริษัทจึงบริหารความเสี่ยงโดยทำแผนการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืม (รีไฟแนนซ์) ด้วยการออกหุ้นกู้ระยยาว ซึ่งบริษัทได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท เสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวมไม่เกิน 95,000 ล้านบาท (แผน 2 ปี)

และมีแผนลดภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเข้ารวมกิจการกับแม็คโคร หลังจากที่กลุ่มซีพีได้ชนะประมูลซื้อธุรกิจเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซียมาด้วยมูลค่าราว 3.38 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด มีหนี้สินรวม 160,288 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย. 2565) โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน และในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 91,327 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 88,454 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,136 ล้านบาท

กลุ่มไทยเบฟฯชะลอออกหุ้นกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ในปี 2565 มีการระดมทุนขายหุ้นกู้ค่อนข้างน้อย ประมาณ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น และมียอดหุ้นกู้คงค้างรวมประมาณ 255,200 ล้านบาท มาจาก 4 บริษัท คือ

1.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ผู้ผลิตเครื่องดื่มสุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร 129,000 ล้านบาท 2.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงบริหารห้างค้าปลีก Big C จำนวน 107,000 ล้านบาท

3.ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) 10,000 ล้านบาท และ 4.บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ผู้พัฒนาและบริหารจัดการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 9,200 ล้านบาท

นางสาวศิรินารถกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มไทยเบฟฯชะลอการออกหุ้นกู้มาตั้งแต่ปี 2020 หรือตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จนกระทั่งปัจจุบัน สาเหตุคาดว่าการขยายธุรกิจ การเข้าซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ (M&A) อาจจะยังไม่เจอโอกาสการลงทุนใหม่ จึงไม่ได้เข้ามาระดมทุนออกหุ้นกู้เพิ่ม สวนทางกับกลุ่มซีพีที่มีความต้องการใช้เงินตลอด จึงยังคงมีการออกหุ้นกู้เพิ่ม

นอกจากออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม (rollover) ยังมีการเสนอขายหุ้นกู้นำเงินไปซื้อกิจการ โดยปีที่แล้วปิดดีลซื้อโลตัสไปแล้ว และปีนี้ก็เข้าประมูลซื้อห้าง Metro ในประเทศอินเดียอีกด้วย มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจหันออกหุ้นกู้แทนกู้แบงก์

รายงานข่าวระบุว่า บริษัทธุรกิจหันออกหุ้นกู้มากขึ้น ทำให้มีบริษัทหน้าใหม่ที่เข้ามาระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้แทนการกู้แบงก์ เช่น กรณีบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) พบว่าปีนี้มีการเสนอขายหุ้นกู้ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการเสนอขายหุ้นกู้เป็นครั้งที่ 4 ของปี

จากเดิมที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้สถาบันการเงิน แต่จนถึงกลางปี ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 พบว่าหนี้สินประมาณ 43,805 ล้านบาท โดยสัดส่วนของหนี้เงินกู้แบงก์และหนี้หุ้นกู้มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และยังมีแผนการเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนนี้

เช่นเดียวกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ปีนี้มีการเสนอขายหุ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และล่าสุดเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ โดยนายวิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

บริษัทได้เตรียมออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการบริหารต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ย วัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและเป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับแผนรุกธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่ก้าวกระโดดในปี 2566

แห่ซื้อหุ้นกู้แทนฝากแบงก์

นายกฤชกร นนทะนาคร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายสายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่การออกหุ้นกู้ใหม่น่าจะนิวไฮ เหตุผลเกิดจากธุรกิจต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องการระดมทุนใช้เงิน ประกอบกับปีนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเป็นขาขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ระดมทุนจึงอยากจะออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินให้ต่ำที่สุด

และที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนค่อนข้างตอบรับดีมาก สภาพคล่องในตลาดยังมีสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่เริ่มเข้าใจการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่ากว่าการฝากเงินกับธนาคาร

ขายหุ้นกู้ผ่าน “เป๋าตัง” 3 หมื่นล้าน

นายกฤชกรกล่าวว่า ปีนี้จะเห็นหุ้นกู้รุ่นอายุ 7 ปีออกมากันค่อนข้างมาก ถือเป็นแนวโน้มการออกหุ้นกู้ที่มีอายุยาวขึ้น จากที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความนิยม สาเหตุเป็นเพราะหุ้นกู้อายุ 5 ปี (ค่าเฉลี่ยของผู้ระดมทุน) ผลตอบแทนต่ำ

เมื่อนักลงทุนอยากได้ดอกเบี้ยสูงกว่านั้น ผู้ออกก็ขยับไปออกหุ้นกู้รุ่นอายุ 7 ปี ด้วยผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้ลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเครดิตเรตติ้งดี ซึ่งอายุหุ้นกู้ 7 ปีก็ถือว่าไม่ได้ยาวจนเกินไป

นอกจากนี้ช่องทางการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ก็ทำให้คนสามารถเข้าถึงและเท่าเทียมในการลงทุนหุ้นกู้ได้มากขึ้น ไม่ใช่ลูกค้าแบงก์ก็ลงทุนได้ และยังช่วยลดปัญหาการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองได้

เพราะโปร่งใส มีราคาให้เห็นชัดเจน และสามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง 7 วันโดยปีนี้มียอดออกหุ้นกู้ผ่านเป๋าตังไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ช่วงที่เหลือของปียังมียอดออกหุ้นกู้อีกกว่า 5-6 พันล้านบาท

“แอปพลิเคชั่นเป๋าตังค่อนข้างได้รับความนิยมสูง และเข้ามาช่วยสร้างตลาดในฝั่งรายย่อยได้เยอะมาก ทำให้ปัจจุบันแบงก์กรุงไทยครองมาร์เก็ตแชร์ในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้เป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 15% ของยอดขายหุ้นกู้ใหม่” นายกฤชกรกล่าว