โอกาสลงทุน อินโดนีเซีย-เวียดนาม ฐานการผลิตใหม่โลก

ลงทุน อินโด-เวียดนาม
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ยศรวี จงแสงทอง ธนาคารทิสโก้

ปัญหาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน รวมถึงยูเครน-รัสเซีย ทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มเห็นถึงปัญหาและความซับซ้อนในการจัดการกับห่วงโซ่อุปทาน

จึงเริ่มหาทางกระจายความเสี่ยงด้านการผลิต ที่เดิมอาจกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีน ไปยังประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย

สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะไปตั้งฐานการผลิตนั้น มีเหตุผลที่ตรงกันคือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นอย่างมาก มีความพร้อมทั้งในแง่นโยบายที่จูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนตรง และวัยแรงงานที่มีอยู่มาก

โดยประเทศเวียดนาม มีจุดเด่นเฉพาะตัวด้านทำเลที่ตั้งใกล้กับจีน อีกทั้งยังมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ การเปิดกว้างต่อการลงทุนของต่างชาติ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าปีที่ผ่านมาผลจากการล็อกดาวน์ในไตรมาส 3 จะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่หลังจากการควบคุมการแพร่ระบาดได้ เศรษฐกิจก็กลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2565 ขยายตัวได้ถึง 7.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) เพราะได้แรงหนุนจากภาคการส่งออก รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของภาคบริการ ขณะที่เงินเฟ้อก็ยังอยู่ในกรอบอ้างอิง

โดยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 2.89%YOY ในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 และ 2566 อยู่ที่ 6.9% และ 6.7% ตามลำดับ

ในด้านการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมดัชนี VN Index ปรับตัวลง -14.5% โดยดัชนีปรับตัวลงชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 หลังมีข่าวการทุจริตของผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อป้องกันการถูก margin call

จนทำให้ในไตรมาส 2/2565 ดัชนี VN Index ปรับตัวลงกว่า 20% สวนทางกับมุมมองผลประกอบการปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 30% ทำให้มูลค่าหุ้น (valuation)

เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมปรับตัวลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจที่บริเวณ -2S.D. คิดเป็น Fwd P/E 11.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่อยู่ในระดับ 15.8 เท่า ขณะที่มองข้ามไปปีหน้ากำไรต่อหุ้น (EPS) ยังสามารถเติบโตได้อีกราว 15%

สำหรับความน่าสนใจของประเทศอินโดนีเซียนั้น คือความพร้อมทางปัจจัยการผลิตทั้งทรัพยากรคนและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่ทองแดงและนิกเกิลที่อินโดนีเซียสามารถผลิตได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ปัจจัยเหล่านี้ดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตด้านแบตเตอรี่และรถไฟฟ้า ทั้ง TESLA, CATL, LG Chem ให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามา

ขณะที่ไตรมาส 2/2565 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 5.4% YOY ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 5.2% และ 5.0% ตามลำดับ

ภาพการลงทุนตลาดหุ้นอินโดนีเซียตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม Jakarta Composite Index (JCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7% สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลก ตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้าน EPS ปี 2565 ประเมินว่า จะขยายตัวสูงถึง 47% และปี’66 ขยายตัว 5% ด้าน Valuation Fwd P/E ซื้อขายที่ระดับ 16 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อยที่ 17 เท่า

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เป็นส่วนประกอบหลักของดัชนี ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจวัสดุการผลิต และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงได้รับปัจจัยเชิงบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงที่ความไม่แน่นอนด้านการเมืองระหว่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ได้กลายเป็นปัจจัยบวกต่อเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีปัจจัยการผลิตที่เพียบพร้อม นโยบายทางการเงินที่ไม่ได้มีความตึงมากเกินไป ขณะที่ระดับ valuation ของตลาดหุ้นที่ไม่ได้สูงมากเกินไป ก็เป็น 2 ประเทศที่เหมาะกับการเพิ่มเข้าไปในพอร์ตการลงทุนเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้