คนไทยตุน “เงินเยน” เที่ยวญี่ปุ่น “ดองกิ” รับอานิสงส์เยนอ่อนค่า

เงินเยน

คนไทยแห่แลกเงินเยนหลังอ่อนค่าหนักรอบ 24 ปี “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ชี้มีโอกาสแตะ 24 บาทต่อ 100 เยน “ทเวลฟ์ วิคทอรี่ฯ” เผยพฤติกรรมคนไทยหันใช้ “บัตรเครดิต-แทรเวลการ์ด” มากขึ้น เห็นสัญญาณเก็งกำไร “YouTrip” แอปแลกเงินเผยคนแห่ใช้แลกเงินเยนพุ่ง 5 เท่า “ดองกิ” รับอานิสงส์เยนอ่อน เตรียมปรับราคาสินค้าให้จับต้องได้มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้แนวโน้มอ่อนค่าลงไประดับ 150 เยนต่อดอลลาร์

ลูกค้าแห่แลกเงินเยน

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเงินเยน-ญี่ปุ่นอ่อนค่าในรอบ 24 ปี ทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งหากเทียบเงินบาทจะอยู่ที่ราว 25.75 บาทต่อ 100 เยน ทำให้มีลูกค้าโทร.เข้ามาสอบถามเพื่อซื้อขายเงินกันมาก แต่ก็ถือว่าเป็นปกติ เพราะเงินเยนเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร และหลังจากมีการเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้คนไทยมีความต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ปริมาณซื้อขายเงินเยน-ญี่ปุ่นในช่วง 3 เดือนล่าสุดพบว่า ในเดือน มิ.ย. 2565 มีธุรกรรมสูงสุด เพราะเป็นช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า ต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค. ทำให้มีคนแย่งกันซื้อ โดยในเดือน มิ.ย. บริษัทมียอดขายที่ 1,600 ล้านเยน หรือ 429 ล้านบาท

สำหรับเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น ทำให้ปริมาณซื้อลดลง ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ 1,226 ล้านเยน หรือ 325 ล้านบาท ส่วนเดือน ส.ค.ที่เงินเยนอ่อนค่าลงไปอีกครั้ง เนื่องจากหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คงดอกเบี้ย ทำให้ปริมาณการซื้อทยอยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,417 ล้านเยน หรือประมาณ 376 ล้านบาท ซึ่งระยะข้างหน้าแนวโน้มเงินเยนก็คิดว่าจะยังอ่อนค่าอยู่

5 สกุลเงินยอดนิยม

“เงินเยนยังคงขายดีตามปกติ เพราะเปิดประเทศแล้ว และหลังค่าเงินลงมาเหลือ 25 บาทต่อ 100 เยน โดยมีการคาดการณ์ว่าเยนจะอ่อนไปอีกเหลือ 24 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคนที่ตั้งใจจะไปเที่ยวอยู่แล้ว ก็มีโทร.มาจองบ้าง แต่คิดว่าธุรกรรมคงไม่ได้ไปมากกว่าเดิม คงมีขึ้นลงตามดีมานด์-ซัพพลาย โดยสกุลเงินที่แลกเยอะยังเป็นดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ รวมถึงดอลลาร์ออสเตรเลีย เพราะเป็นช่วงที่นักเรียนกำลังเปิดเทอม” นายปิยะกล่าว

คนไทยหันใช้ “แทรเวลการ์ด”

นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ ประธานกรรมการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด ผู้ให้บริการแลกเงินตราต่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ราว 24-25 บาทต่อ 100 เยน แต่หากดูปริมาณธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศตามเคาน์เตอร์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือมีธุรกรรมเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป โดยส่วนใหญ่จะเน้นใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตร travel card ใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว โดยจะแลกเงินกับร้านแลกเงินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินเท่านั้น ทำให้ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้นแรง ประกอบกับช่วงนี้ยังเป็นโลว์ซีชั่น อาจไม่เห็นปริมาณธุรกรรมชัดมากนัก

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ค่าเงินปรับขึ้นลงราว 10-20 สตางค์ จะเห็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเล่นเก็งกำไรจากค่าเงินเข้ามาทำธุรกรรม แต่จะเป็นการซื้อ-ขายช่วงสั้น และเป็นการซื้อขายบนแอปพลิเคชั่น เนื่องจากธุรกิจแลกเงินจะเป็นการซื้อขายตามดีมานด์จริง ซึ่งตอนนี้สัญญาณไม่ได้หวือหวามากนัก

“จำนวนทรานแซ็กชั่นไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่จะไปแลกกับแบงก์ และแลกกับเราแค่พอติดตัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เพราะส่วนใหญ่จะพกการ์ดในการใช้จ่าย โดยดูธุรกรรมซื้อขายยังเป็นดอลลาร์ และรองลงมาเป็นเงินวอน เยน ส่วนยูโรร่วงลงอยู่ที่ 36 บาทต่อยูโร คนก็ไม่กล้าซื้อเก็บ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี และถัดมาเป็นเงินอินเดียและมาเลเซีย เพราะเป็นทั้งกลุ่มที่เข้ามาเที่ยว และค้าขายชายแดนด้วย” นางสาวชนาพรกล่าว

แลกเยนผ่านแอปโต 5 เท่า

นางสาวจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง YouTrip ประเทศไทย ผู้ให้บริการแลกเงินจากสิงคโปร์ จับมือกับธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ก.ย.นี้ ช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าพบว่า มีลูกค้าผู้ใช้บริการการแลกเงินผ่านแอปพลิเคชั่น “YouTrip” ซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเติบโตเพิ่มขึ้นชัดเจนถึง 5 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศญี่ปุ่นเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้น และโดยปกติคนไทยนิยมท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ๆ ประกอบกับค่าเงินอ่อนค่าช่วยกระตุ้นความต้องการเดินทางมากขึ้น ส่วนค่าเงินยูโรที่อ่อนค่ายังไม่ได้มีธุรกรรมโดดเด่นหรือชัดเจนมากเมื่อเทียบกับเงินเยน

คนไทยเตรียมเที่ยวญี่ปุ่น

นายธนพล ชีวรัตนพร อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) หรือสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นค่าเงินเยนที่ยังอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ภาวะที่คนไทยอัดอั้นไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมานานเกือบ 3 ปีแล้วมากกว่า

โดยจะเห็นว่าหลังจากหลายประเทศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนไทยจำนวนหนึ่งก็วางแผนเดินทางต่างประเทศกันอย่างมาก นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่เปิดประเทศก่อนในกลุ่มประเทศเอเชีย

นายธนพลกล่าวว่า เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ครองความนิยมอันดับ 1 ของคนไทยมาโดยตลอด ทำให้คนจำนวนมากเฝ้ารอ เมื่อญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศจึงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปญี่ปุ่นก็ยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง ทั้งประเด็นจำกัดจำนวนคนเข้าต่อวัน การจองโรงแรมต้องผ่านบริษัททัวร์ รวมถึงการต้องยื่นขอวีซ่า ฯลฯ ทำให้คนที่เคยเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ยังไม่ได้รับความสะดวกสบายเหมือนในอดีต โดยขณะนี้กลุ่มที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเกือบ 100% จะเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

“ดองกิ” รับอานิสงส์เยนอ่อน

นายโยซูเกะ ชิมานุกิ ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ดองดองดองกิ กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินเยนนั้นส่งผลบวกต่อสินค้านำเข้า ซึ่งบริษัทจะใช้จังหวะนี้ทำราคาสินค้าให้จับต้องได้มากขึ้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกกล่าวว่า การอ่อนตัวของค่าเงินเยนอาจไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าหน้าร้านในทันที เนื่องจากปกติสินค้าแต่ละลอตต้องสั่งล่วงหน้า ทำให้สินค้าที่วางจำหน่ายในปัจจุบันเป็นลอตที่นำเข้าด้วยค่าเงินระดับเดิม

ด้านนายวีระ เฉลียวปิยะสกุล รองประธาน บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เงินเยนอ่อนค่าไม่ส่งผลกับบริษัท เพราะปัจจุบันสาขาไทยซื้อ-ขายซัพพลายต่าง ๆ เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ กับสำนักงานภูมิภาค และในทางตรงกันข้าม เมื่อเงินเยนอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้โรงงานในญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ มาผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น ก็ทำให้มีแนวโน้มต้องปรับราคาสินค้าสูงขึ้น และคาดว่าสถานการณ์นี้จะเกิดกับผู้เล่นรายอื่นในวงการเช่นกัน
แนวโน้มเยนอ่อนค่าต่อ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าลงอีกจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 142.20 เยนต่อดอลลาร์ โดยตลาดมองว่าเงินเยนจะอ่อนค่ากลับไปทดสอบที่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าต่อเนื่องไปที่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ และญี่ปุ่น ยังเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินเยน

“ประเด็นที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ท่าทีของทางการญี่ปุ่น เพราะในขณะนี้ทางการญี่ปุ่นยังกล่าวเตือนถึงความผันผวนและการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยนด้วยวาจาเท่านั้น”

ขณะที่ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ระหว่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งตลาดคาดว่าการประชุมในเดือนกันยายนนี้ เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.75% ไปอยู่ที่กรอบ 3.0-3.25% จากระดับ 2.25-2.50% ซึ่งจะเพิ่มความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐ และญี่ปุ่น ประกอบกับพื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และดูแลไม่ให้บอนด์ยีลด์ขยับขึ้นผ่านการทำ Yield Curve Control

“ความแตกต่างของนโยบายการเงินสหรัฐ และญี่ปุ่น ซึ่งเฟดยังอยู่ในช่วงการปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ญี่ปุ่นทำนโยบาย Yield Curve Control เพื่อดูแลผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ให้อยู่ในระดับประมาณ 0.25% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยญี่ปุ่นและสหรัฐยังกว้าง และกดดันค่าเงินเยน ทำให้ยังคงต้องติดตามท่าทีของทางการญี่ปุ่นต่อไป”