“ดองกิ” ปรับแผนลดเป้าสาขาในไทยจาก 20 สาขา เหลือ 12 สาขาในปี 2568 เหตุโควิดทำสะดุด พร้อมเปิดฉากทดลองโมเดลร้านไซซ์เล็ก ขนาด 1,200-1,500 ตร.ม. หวังเพิ่มความคล่องตัวในการหาทำเล ผนึกธนิยะปักธงสาขาที่ 7 ต้นปี 2566 คาดเปิดปีละ 3 สาขา พร้อมหันรุกต่างจังหวัด
นายโยซูเกะ ชิมานุกิ ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ดอง ดอง ดองกิ กล่าวว่า ตลาดค้าปลีกของไทยยังมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ด้วยจุดแข็งหลายด้าน อาทิ จำนวนผู้บริโภค มีจังหวัดหัวเมืองใหญ่หลายแห่ง และผู้บริโภคชาวไทยยังชื่นชอบสินค้าญี่ปุ่น
ขณะนี้แม้จะมีสถานการณ์เรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินผันผวน แต่ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจสไตล์ซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้มีลูกค้ามาจับจ่ายของกินของใช้เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้แผนการขยายสาขาในประเทศไทยล่าช้ากว่าที่วางเป้าไว้ว่าจะมี 20 สาขาในไทยภายในปี 2568 แต่ปัจจุบันมีเพียง 5 สาขา และกำลังจะเปิดอีก 2 สาขา คือ สาขาเจพาร์ค ศรีราชา ในเดือนกันยายนนี้ และธนิยะพลาซา ช่วงต้นปี 2566
ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัทต้องปรับเป้าจำนวนสาขา โดยวางไว้แบบหลวม ๆ ที่อย่างน้อย 12 สาขา ในปี 2568 พร้อมวางยุทธศาสตร์การขยายสาขาใหม่ ด้วยการทดลองโมเดลขนาดเล็กลงประมาณ 50% จากโมเดลปกติที่มีขนาด 2,500 3,000 ตร.ม. เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการหาทำเลในการขยายสาขาได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
โดยนอกจากไทยแล้ว ที่สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่มีโมเดลไซซ์เล็กประมาณ 1,000 ตร.ม. และนำแอปพลิเคชั่นเข้ามาใช้เสริมประสบการณ์ช็อปปิ้งให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทย
“แม้จะสามารถเร่งสปีดสาขาให้มากกว่า 3 สาขาต่อปีได้ แต่บริษัทเกรงว่าการขยายธุรกิจเร็วเกินไปอาจเกิดปัญหากับการควบคุมคุณภาพ จึงคงตัวเลขนี้ไว้ก่อน”
ประธานกรรมการ บริษัท ดองกิ กล่าวว่า พร้อมโฟกัสการรุกต่างจังหวัด นับจากปี 2562 หรือ 3 ปีที่ผ่านมาขยายสาขาในเขตกรุงเทพฯ และย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) มาอย่างต่อเนื่องจนมี 6 สาขา คือ ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ, เดอะ มาร์เก็ต, เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, ซีคอนสแควร์, ซีคอน บางแค และเจพาร์ค ศรีราชา นิฮอน มูระ ซึ่งจะเปิดในเดือนกันยายนนี้
โดยจะทดลองโมเดลไซซ์เล็กที่สาขาศูนย์การค้าธนิยะพลาซา ย่านสีลม ซึ่งเป็นสาขาที่ 7 ในขนาด 1,200 ตร.ม. แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ชั้น 1 และ 2 ของอาคารบี เน้นรวบรวมสินค้าที่ขายดีจากสาขาต่าง ๆ ประมาณ 4,000-6,000 รายการ มาไว้ในที่เดียว อาทิ มันเผา อาหารทะเล น้ำแอปเปิลจากจังหวัดอาโอโมริ ฯลฯ และเปิดบริการแบบ 24 ชั่วโมง มีกำหนดเปิดบริการช่วงต้นปี 2566
“ย่านสีลมนี้เป็นทำเลที่คล้ายคลึงกับย่านที่สาขาของดองกิในประเทศญี่ปุ่นเลือกเปิด นั่นคือจะอยู่ในย่านสถานบันเทิง จึงจับมือกับธนิยะกรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าธนิยะพลาซา ซึ่งมีทางเดินเชื่อมกับสถานีบีทีเอส สีลม และมีการรีโนเวตสถานที่ใหม่ รวมถึงมีฐานลูกค้าเป็นชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว”
พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นดอง ดอง ดองกิ ซึ่งนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการช็อปปิ้งของผู้บริโภคไทย ไม่ว่าจะเป็นความชอบอ่านรีวิวจากลูกค้าด้วยกัน หรือหลายคนอาจไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้ามากนัก จึงใส่ฟังก์ชั่น เช่น สามารถสแกนสินค้าเพื่ออ่าน-เขียนรีวิว รวมถึงอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ เช่น ฟังก์ชั่นเด่น หรือสูตรอาหารที่ใช้สินค้าเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังนำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “เซ็น เซ็น ซูชิ” (Sen Sen Sushi) มีจุดเด่นด้านความสดใหม่ของวัตถุดิบ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเปิดบริการในธนิยะพลาซาแบบ 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน พร้อมโซนพิเศษโมบายฟู้ดซึ่งจะมีอาหารญี่ปุ่นแบบเดินทานได้หลากหลายเมนู อาทิ มันเผา เนื้อวากิวเสียบไม้ ขนมหวาน ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับความไลฟ์สไตล์และศักยภาพของผู้บริโภคในย่านสีลม ซึ่งมีฐานลูกค้าทั้งพนักงานออฟฟิศ ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปจนถึงผู้ที่เดินทางผ่านไป-มาด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และมีไลฟ์สไตล์เน้นช็อปปิ้งระยะเวลาสั้น ๆ
นายโยซูเกะกล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยความเชี่ยวชาญของบริษัท และการปรับตัวเข้าหาผู้บริโภคชาวไทย เช่น การทำราคาสินค้าให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ จะสามารถสร้างความคึกคักให้กับธนิยะพลาซา รวมไปถึงย่านสีลมได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้บริโภคในสาขาเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 8 หมื่นคนต่อวัน