ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยขั้นสูงสุด

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยขั้นสูงสุด เชื่อใช้มาตรการแบบ “ขึ้นแล้วคง” (hike and hold) ไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือน มี.ค. 2566 คาดเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 37.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/9) ที่ระดับ 37.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/9) ที่ระดับ 36.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง โดยเฟดจะใช้มาตรการดอกเบี้ยแบบ “ขึ้นแล้วคง” (hike and hold) แทนที่จะใช้มาตรการ “ขึ้นแล้วลง” (hike and cut) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ผลการสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 ก.ย.) และเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือน มี.ค. 2566 โดยคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ระบุว่า มีแนวโน้ม 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อันเนื่องจากการที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมนัดหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับปัญหาเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากว่าเกิดจากปัจจัยเรื่องใดเป็นหลัก พร้อมทั้งประเมินว่าสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงมากในขณะนี้ ส่งผลกระทบในด้านใด อย่างไร แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะนัดกันได้เมื่อใด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันว่าได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ดังนั้นกระทรวงการคลังคงจะไปกำหนดมาตรการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากไม่ได้ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติ พร้อมระบุว่า หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมา จะมีช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดแล้วจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงระดับสูงที่สุดแล้วจนทุกอย่างอยู่นิ่ง เมื่อถึงเวลานั้นค่าเงินบาทก็จะมีการปรับตัวตามพื้นฐานใหม่ ยืนยันว่าเรื่องค่าเงินนั้นมีขึ้นก็ต้องมีลง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.16-37.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 0.9962/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/9) ที่ระดับ 1.0004/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9884-0.9978 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9918/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/9) ที่ระดับ 143.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/6) ที่ระดับ 143.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้าโดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนการคาดการณ์ที่การชี้นำในทางที่ผิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่า BOJ จะปรับนโยบายการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.35-144.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (21/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.75/7.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ