เศรษฐกิจทั่วโลกเสี่ยง “ถดถอย” เอฟเฟ็กต์ส่งออกไทยปีหน้าติดลบ

เงินกู้ เงินบาท

ผวา “เศรษฐกิจโลกถดถอย” มาเร็วกว่าคาด หลังเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรง เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสูงสุดรอบ 20 ปี กระทบค่าเงินทั่วโลกผันผวนหนัก “ดร.พิพัฒน์” KKP ชี้โลกเสี่ยงถดถอยต้นปีหน้า จับตายุโรปอาการหนักสุด ประเมินกระทบส่งออกไทยปี’66 ติดลบ 1% หวังท่องเที่ยวอุ้มจีดีพี กสิกรไทยชี้ “บาทอ่อน” ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร่งแก้ จับตากระแส “เก็งกำไรค่าเงิน” สภาพัฒน์ยอมรับสัญญาณชัดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดร.กอบศักดิ์ ชี้วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ยาว 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ตลาดมีความกังวลเรื่อง เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มมากขึ้น หลังธนาคารกลางหลักอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ต่างส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบต่อค่าเงินทั่วโลก ซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ล่าสุดมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่หันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อ ทำให้สัญญาณเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยชัดมากขึ้น

เศรษฐกิจหลักมีปัญหาถ้วนหน้า

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ตอนนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยแต่ละภูมิภาคมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก โดยขณะนี้สหรัฐยังดูแข็งแกร่ง ส่วนยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูง ก็มีความเสี่ยงที่การบริโภคจะชะลอตัว และยังต้องเจอกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อเบรกเงินเฟ้อ รวมถึงยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงมากกว่าภูมิภาคอื่น และยิ่งหากสงครามยูเครนกับรัสเซียไม่จบ ก็จะยิ่งมีปัญหา

ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีปัญหาเพราะยังต้องกระตุ้นอยู่ ขณะเดียวกันก็เจอกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ย เพราะไม่เช่นนั้นก็เจอปัญหาค่าเงินเยนอ่อนค่าไปเรื่อย ๆ ส่วนจีนก็เจอปัญหาของตัวเอง จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

“แต่ละภูมิภาคก็มีความเสี่ยงของตัวเอง ขณะที่อเมริกาเศรษฐกิจยังค่อนข้างร้อนแรง แต่ด้วยความที่เงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเหยียบเบรก เพื่อเอาเงินเฟ้อให้อยู่ ฉะนั้นก็ยิ่งทำให้มีโอกาสถูกเหยียบเบรกไปเรื่อย ๆ จนเศรษฐกิจชะลอตัว ผมว่าความเสี่ยงโลกจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า ตรงนั้นจะค่อนข้างน่ากังวล จะถึงเป็น global recession หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่แค่ global slowdown พร้อมกันก็แย่แล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ไทยขาดดุลการค้าฉุดค่าเงิน

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดเดือน ส.ค. 65 ที่ออกมาขยายตัว 7.5% (YOY) แต่ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ ก็น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนว่า ทั้งโลกน่าจะผ่านช่วงที่ต้องการซื้อสินค้าสูงสุดไปแล้ว โดยตลาดส่งออกไทยที่โตช้าสุด หรือติดลบ ก็คือจีน ซึ่งสะท้อนมาจากนโยบายซีโร่โควิด เรื่องปัญหาดิสรัปชั่นในภาคผลิต รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งหลาย ๆ ประเทศที่ส่งไปจีนก็ติดลบกันหมด ซึ่งตลาดจีนมีน้ำหนักส่งออกของไทยค่อนข้างมาก 13-14% ก็ยิ่งกระทบ

และที่น่ากลัวกว่าส่งออกโตช้า ก็คือประเด็น “ขาดดุลการค้า” โดยไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน เพราะเจอผลกระทบทั้งน้ำมันแพง ทั้งค่าขนส่งสูง แถมเจอตลาดส่งออกแผ่วอีก ซึ่งหากขาดดุลไปนาน ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อค่าเงิน เพราะหากขาดดุลการค้ามาก ๆ ขณะที่การท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้มาก ก็จะทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินบาททำให้ยิ่งอ่อนค่า

ทั่วโลกเศรษฐกิจชะลอพร้อมกัน

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนคงปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงจากเดิมกันหมด แต่สิ่งที่กังวลคือ การเกิดการชะลอตัวพร้อม ๆ กัน หรือเศรษฐกิจโลกแผ่วพร้อมกันหมด และ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ stagflation ภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอ แต่เงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

“อย่างที่เฟดพูด เป้าหมายของเขาวันนี้คือ จัดการเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อไม่ลดลง ก็จะไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีคำถามว่า แล้วถ้าเศรษฐกิจชะลอ แต่เงินเฟ้อยังไม่ลง เฟดจะทำอย่างไร ซึ่งคำถามนี้เฟดยังไม่ได้ตอบ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก และไม่ได้ร้อนแรงจนต้องแตะเบรกเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่ก็ต้องไปดูว่าส่งออกและท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกด้วยหรือไม่ โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างน้อย 7 ล้านคน ส่วนปีหน้าถ้าไม่มี recession หรือมีแบบเบา ๆ คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 16-18 ล้านคน

KKP ปีหน้าส่งออกไทยติดลบ

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอพร้อม ๆ กันในช่วงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ทั้งยุโรป อเมริกา รวมถึงจีน ที่ตอนนี้เป็นความหวังเดียว ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็จะกระทบท่องเที่ยวไทย และอาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบไปด้วย

สำหรับประมาณการของ KKP ในขณะนี้มองว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตได้ 3.3% ส่วนปีหน้าโต 2.5% ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดโตได้ 3.4% และปีหน้าโต 3.6% ซึ่งมาจากสมมุติฐานว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมามากขึ้น ขณะที่การส่งออกปีหน้าคาดว่าจะหดตัว -1% รวมถึงการบริโภคก็โตแผ่ว ๆ

“ส่งออกปีหน้าเราคาดว่าจะติดลบ 1% ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ก็อาจจะติดลบมากกว่านี้” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ทั่วโลกเสี่ยง-เงินปอนด์ดิ่งหนัก

ขณะที่ ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกจะถดถอย มาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะสหรัฐที่อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเกิน 4% ซึ่งก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง หรือเกิดการถดถอยทางเทคนิค ขณะที่บางประเทศก็เป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงมาก อย่างเช่น อังกฤษ ที่นอกจากดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ค่าเงินปอนด์ยังดิ่งหนัก อ่อนค่ามากสุดในประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่ง ยิ่งกดดันการบริโภค

อย่างไรก็ดี ถ้าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สหรัฐก็คงเกิดก่อน เพราะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ส่วนยุโรปหากเกิดก่อน ก็ถือว่าผลกระทบน้อยกว่าสหรัฐ เพราะขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า

“แต่ละประเทศจะเจอปัจจัยเสี่ยงสำคัญแตกต่างกันไป ส่วนปัจจัยที่เจอร่วมกันก็คือ เงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง โดยคาดว่าจะเกิด global recession อย่างสหรัฐน่าจะเห็นตั้งแต่ปลายปีนี้ หรือไตรมาสแรกปีหน้า แต่ไม่ได้ถดถอยลึกอะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วจีดีพีสหรัฐลดมาแล้ว 2 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าไตรมาส 3-4 จะลงไปอีก ต้นปีหน้าทุกอย่างน่าจะชัดเจนขึ้น”

โจทย์เฉพาะหน้าแก้ “บาทอ่อน”

ดร.เชาว์กล่าวว่า หากทั่วโลกเกิดเศรษฐกิจชะลอพร้อม ๆกัน หรือเกิดเศรษฐกิจถดถอย ก็จะส่งผลกระทบถึงการส่งออกของไทย และเครื่องยนต์อื่น ๆ ก็คงชะลอ เศรษฐกิจไทยก็คงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนการเงินก็คงเพิ่มขึ้น กำลังซื้อต่าง ๆ ก็ถูกกระทบ หวังว่าท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็จะพอประคองไปได้

ตอนนี้ประเทศไทยมีโจทย์สำคัญที่ต้องรับมือ เป็นประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือ “เงินบาทอ่อนค่า” ค่อนข้างมาก ซึ่งต้องรอดูการประชุม กนง. วันที่ 28 ก.ย.นี้ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และมีคำอธิบายอย่างไร

“เรื่องค่าเงินบาท กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ แล้ว หลายเดือนก่อนสัญญาณจาก ธปท.ยังออกมาว่าจะประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แต่มาถึงตอนนี้คิดว่า ธปท.คงเปลี่ยนแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะเงินบาทร่วงไปเร็วมาก เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดกันหลายครั้ง เรานิ่งเฉยคงไม่ดี เพราะจะทำให้เป็นเป้าของคนที่จะคิดทำกำไร หรือเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน” ดร.เชาว์กล่าว

สภาพัฒน์ยอมรับ ศก.โลกชะลอ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศแข่งกันขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยเฟดก็มีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเรื่อย ๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงอยู่ในระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ ฉะนั้นก็มีโอกาสจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ชะลอตัวลง ส่วนจะเป็นลักษณะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ แต่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกคงมีแน่นอน

ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นในส่วนใดบ้าง เช่น เงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นเกิดจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นข้อดีในการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย แต่ส่วนที่เป็นการนำเข้าเพื่อมาผลิตก็อาจจะมีผลกระทบ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

“ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันแม้จะยังมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ โดยผลกระทบจากราคาน้ำมัน หรือราคาพลังงานก็น่าจะเริ่มชะลอลง ส่วนที่ปรับขึ้นมาแล้ว รัฐบาลก็ได้มีมาตรการออกมาช่วยในหลาย ๆ เรื่องอาจจะส่งผลในช่วงต้นปี 2566 เนื่องจากค่า Ft หรือราคาแก๊ส ก็ยังไม่ได้ลงมาในระดับที่คาดการณ์เอาไว้ ราคายังสูงกว่าระดับปกติอยู่ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นเรื่องของค่าไฟฟ้ายังได้รับผลกระทบอยู่”

เตรียมถกคลัง-แบงก์ชาติ

นายดนุชากล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ซึ่งก็มาจากภาคท่องเที่ยว และบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และมีการส่งออกช่วยอยู่ด้วย ส่วนจะต้องเตรียมเครื่องมือใดเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น ก็ต้องรอติดตามก่อนว่า หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลกระทบไปที่ส่วนไหน ก็ต้องไปพิจารณามาตรการส่วนนั้นเพื่อเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

“แม้ขณะนี้มีการพูดถึงว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่เงินบาทที่อ่อนค่าก็มีผลดีเช่นกัน แต่อาจจะกระทบต่อราคาที่นำเข้า ส่วนจะเตรียมอะไรไว้อย่างไรนั้น ก็ต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ธปท.”

วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ 3 ปี

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้คงใช้เวลาประมาณ 3 ปี นับแต่ต้นปี 2022 ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ช่วง

ช่วงแรก (6 เดือนแรกของ 2022) นักลงทุนเร่งหนีออกจากตลาด ส่งผลให้เกิดวิกฤตในตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ช่วงที่สอง (ต้นปี 2022-ปลายปี 2023) เป็นช่วงที่เฟดพยายามเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้ศึกเงินเฟ้อ และเงินเฟ้อเริ่มพีก ซึ่งหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปี ที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยอย่างน้อยอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ที่ 5% ขึ้นไป โดยเงินเฟ้อก็จะเริ่มลดลงมาบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง

ช่วงที่ 3 (กลางปี 2023-ปลายปี 2024) จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ 2 โลกจะเข้าสู่ภาวะ global recessions (ถดถอยทั่วโลก) ที่ชัดเจนในปี 2023 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจะตกงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ก็จะสุกงอมมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ และช่วงที่ 4 (กลางปี 2024 เป็นต้นไป) เฟดจะเริ่มที่จะลดดอกเบี้ยลง หลังมั่นใจว่าเอาเงินเฟ้ออยู่แล้ว เข้าสู่ช่วงของการกระตุ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยที่โลกจะค่อย ๆ สงบลงในปี 2025 และเข้าสู่ช่วงการเติบโต

สะเทือนภาคการผลิต-ธุรกิจ

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า การประชุมเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนเห็นชัดว่า เฟดเอาจริงจะจัดการเงินเฟ้อให้ได้ โดยความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เฟดรับได้ ต้องชนะศึกเงินเฟ้อเท่านั้น โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกำลังเข้าสู่ restrictive zone ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จากช่วงแรกนักลงทุนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่ช่วงนี้จะกลายเป็นภาคการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจริง และคนทั่วไป

โจทย์ใหม่ “ดอลลาร์แข็งค่า”

ดร.กอบศักดิ์ฉายภาพต่อว่า ขณะที่แนวรบด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเข้มข้นขึ้น ทุกคนเริ่มพูดถึงปัญหาใหม่ “ดอลลาร์แข็งค่า” ล่าสุดดัชนีค่าเงินดอลลาร์ล่าสุดทะลุ 113 ทำให้ดอลลาร์กลายเป็นหนึ่งใน best performing assets ปีนี้แข็งค่าขึ้นประมาณ 20% ส่งผลให้เงินของหลายสกุลทำนิวโลว์ และทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ อยู่ไม่ติด ต้องชี้แจง ต้องเข้าแทรกแซง ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม และปัญหาดอลลาร์แข็งค่าจะไม่จบง่าย โดยจะกดดันทุกประเทศไปอีกระยะ

จับตาเก็งกำไร “ค่าเงิน”

ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า ค่าเงินบาทใกล้ทะลุ 38 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของ 4 ประเทศหลักของโลก คือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งสุดในรอบ 20 ปี นำมาซึ่งความแตกต่างที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างดอกเบี้ยและสภาพคล่องในประเทศหลักเหล่านั้น

“ความแตกต่างเชิงนโยบายระหว่างประเทศเหล่านี้ ทำให้เกิด carry trades ที่กู้จากประเทศดอกเบี้ยต่ำ มาลงทุนในประเทศดอกเบี้ยสูงคือสหรัฐหวนคืนมา หมายความว่า แรงกดดันให้ดอลลาร์แข็ง จะยังมีต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เฟดยังไม่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย”

ผู้ส่งออกร้องคุมเสถียรภาพบาท

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งกว่าเงินสกุลอื่น หากแต่ละประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยตามก็ทำได้ แต่ต้องพิจารณาว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ ส่วนที่ภาครัฐให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ตนมองว่าจะส่งผลกระทบต่อทุนสำรองของประเทศ แนวทางสำคัญในการดูแลให้มีเสถียรภาพ เช่นถ้าวันไหนค่าเงินแข็งค่าหรืออ่อนค่าผิดปกติเกินกว่า 0.25-0.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็ควรเข้าไปดูแลบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการปรับตัว

ในส่วนผู้ประกอบการก็ต้องใช้เครื่องมือในการดูแลค่าเงิน โดยช่วงที่บาทแข็ง ผู้ส่งออกต้องซื้อประกันความเสี่ยง แต่ในช่วงบาทอ่อน ผู้นำเข้าต้องซื้อฟอร์เวิร์ดเช่นกัน โดยส่วนตัวมองว่ายังไม่ต้องกังวลว่าบาทอ่อนแล้วส่งออกดี จนผู้ผลิตจะหันไปส่งออกจนสินค้าขาดแคลน เพราะผู้ผลิตสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าห่วง

“ภาวะค่าเงินบาทอ่อนไม่ได้ดีต่อผู้ส่งออก แต่ค่าเงินที่มีเสถียรภาพต่างหากจึงจะดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ค่าเงินบาทต้องสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง หากแข็งมากไปขายของแพงก็ลำบาก ถ้าอ่อนไป การนำเข้าก็เสียเปรียบ”

ปีหน้าส่งออกยังขับเคลื่อน ศก.

นายวิศิษฐ์กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 2 ตัว คือ ส่งออก และท่องเที่ยว ซึ่งในปีหน้าการส่งออกก็จะยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ต่างจากเดิม โดยจะมีสัดส่วน 60-70% ของจีดีพี บวกลบไม่มาก แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจขาลง ภาพการส่งออกจะเปลี่ยนไป คนจะขยับมาซื้อของใช้จำเป็นในราคาที่ถูกลง ทำให้คนขายของแพงอาจขายไม่ได้ เพราะต้องแข่งขันเรื่องราคา ดังนั้นสินค้าที่มีนวัตกรรมหรือราคาสูงหรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอาจชะลอตัวลงในปีหน้า

ไทยเบฟซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า 1 ปี

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เนื่องจากเป็นผลบวกต่อการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ แต่เป็นผลลบกับการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ซึ่งวัตถุดิบหลักที่นำเข้า คือ มอลต์สำหรับผลิตเบียร์ และอะลูมิเนียมสำหรับผลิตกระป๋อง โดยผลกระทบจะยังไม่เห็นในทันที เนื่องจากการซื้อวัตถุดิบนั้นส่งล่วงหน้าประมาณ 1 ปี จึงสามารถล็อกค่าเงินเดิมไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากผลกระทบสูงจนบริษัทไม่สามารถรับไว้ได้อาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าอาจทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อขยายตัวมากขึ้น