ดอลลาร์อ่อนค่าท้ารับสัปดาห์ จับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อคืนนี้

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่าท้ารับสัปดาห์ จับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเงินบาทยังคงอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แม้กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี และอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 38.40 บาท/ดอลลาร์ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 26-30 กันยายน 2565 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์โดยยังคงได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าและทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดการประชุมที่คงเหลืออีก 2 ครั้งในปี

นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Face The Nation” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ (25/9) โดยนายบอสติกได้กล่าวให้คำมั่นต่อพันธสัญญาในการฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2.0% พร้อมแสดงมุมมองเชิงบวกว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากนัก

อย่างไรก็ดี นายบอสติกยอมรับว่า การดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการตกงาน แต่เมื่อเทียบกับการคุมเข้มนโยบายการเงินครั้งก่อนหน้านี้ เขาเชื่อว่า “มีโอกาสสูงที่ปัญหาตกงานจะน้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสถานการณ์อื่น พร้อมเสริมว่า ตลาดงานที่แข็งแกร่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงแบบค่อนข้างเป็นระเบียบ

เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยฉุดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ นายบอสติกเปิดเผยว่ายังคงมองเห็นแรงผลักดันเชิงบวกในเศรษฐกิจ แม้ GDP เติบโตติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนพิจารณาว่าเป็นภาวะถดถอย สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เฟดเพิ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อฉุดเงินเฟ้อลง

ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 108 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.6 จากระดับ 103.6 ในเดือน ส.ค.ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและราคาพลังงานที่ปรับตัวลง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปีในวันพุธ (28/9) ที่ระดับ 114.527 ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรในเวลาถัดมาแตะรับ 111 โดยคาดว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของทางสหรัฐในช่วงวันศุกร์นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวเลขหลักที่มีผลต่อการตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางสหรัฐ

เงินบาทยังคงอ่อนค่า แม้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 37.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 37.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคและตลาดโลก จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ในวันจันทร์ (26/9) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 65 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.5% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัว 7.3-7.7% ทำให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัว 11.0% ที่มูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการนำเข้าในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3% ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 21.4% ที่มูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 65 ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในวันพุธ (28/9) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 ได้มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

โดยนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

โดยภายหลังจากที่การประชุมเสร็จสิ้น ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ 38.40 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าลงเล็กน้อยในวันถัดมา

ขณะที่ในช่วงบ่ายวันศุกร์ (30/9) ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย มีมติเสียงข้างมากให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ โดยระบุว่าความเป็นนายกฯยังไม่ครบ 8 ปี เริ่มนับปี 2560 ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.60-38.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจยูโรชะลอตัว เงินเฟ้อส่งผลวงกว้าง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 0.9647/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 0.9735/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นายหลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัญหาเงินเฟ้อในยูโรโซนเริ่มส่งอิทธิพลในวงกว้างขึ้น ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากประเทศในเขตยูโรโซนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากสงครามยูเครน

โดยเศรษฐกิจในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก และ “อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจ่อระดับศูนย์” ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอาจจะพุ่งขึ้นแตะ 9.6% ในเดือนนี้ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์สำหรับเขตยูโรโซนอาจจะพุ่งขึ้นแตะ 9.6% ในเดือนนี้ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับเขตยูโรโซน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ค่าเงินยูโรได้กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันพฤหัสบดี (29/9) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคมและธันวาคม

จับตาวิกฤตพลังงานในยุโรป

อย่างไรก็ดี ตลาดมีความกังวลว่าการปรับดอกเบี้ยดังกล่าวเพื่อคลายปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งวิกฤตพลังงานในยุโรป อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในอนาคตได้ นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนอีกทางหนึ่งจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ออกมาประกาศรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดจำนวนถึงวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพและเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน

โดยก่อนหน้านี้เงินปอนด์อ่อนค่าอย่างรุนแรงแตะระดับ 1.0382 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษมีการเปิดเผยมาตรการปรับลดภาษีและการตรึงราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 0.9534-0.9853 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 0.9832/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (26/9) ที่ระดับ 143.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/9) ที่ระดับ 143.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศจับตาการเก็งกำไรเงินเยนในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และยืนยันว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดอีกหากเห็นว่าจำเป็น โดยระบุว่า การเข้าแทรกแซงตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

เงินเยนอ่อนค่า

ในวันพุธ (28/9) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือน ก.ค. โดยระบุว่า กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า BOJ จะต้องดำเนินการตรวจสอบว่า การร่วงลงอย่างหนักของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมานั้น จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร กรรมการรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า แรงกดดันช่วงขาลงของเงินเยนอาจจะบรรเทาลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะถ่วงเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า BOJ ได้คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสดนั้น อาจจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ แต่อัตราการปรับขึ้นจะชะลอตัวลงตามทิศทางราคาพลังงาน ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.26-144.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 144.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ