เทรนด์ราคาทองคำเดือนตุลาคม

ทองคำ
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

เดือนตุลาคมคาดราคาทองคำ spot จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580-1,740 ดอลลาร์

ราคาทองคำ spot ในเดือนกันยายนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากสหรัฐประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคมออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงในการประชุมเฟด ในวันที่ 20-21 กันยายน และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น

สำหรับผลการประชุมเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.00-3.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

ราคาทองคำ spot เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงการประชุมเฟด และฟื้นตัวขึ้นมาได้ภายหลังการประชุม อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นมีแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงแตะ 1,614 ดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็วทำจุดสูงสุดในรอบ 20 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี แตะ 4.36%

ซึ่งประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) ในเดือนกันยายน เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 4.4% สิ้นปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับ 4.6% สิ้นปี 2566 ขณะที่สิ้นปี 2567-2568 จะลดลงสู่ระดับ 3.9%

และ 2.9% ตามลำดับ จากคาดการณ์เดิมในเดือนมิถุนายนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2565-2566 จะอยู่ที่ระดับ 3.4% และ 3.8% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนยังไหลเข้าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนตุลาคม ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญคืออัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานเดือนกันยายน แรงเทขายทองคำจากกองทุนอีทีเอฟทองคำ SPDR

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำ spot ทางด้านปัจจัยทางเทคนิคเป็นขาลง แต่การปรับลง คาดเริ่มมีกรอบที่จำกัดและอาจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ โดยในเดือนตุลาคมราคาทองคำ spot คาดจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580-1,740 ดอลลาร์

ทั้งนี้ราคาทองคำอาจจะผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์อยู่ แต่คาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่เกินระดับ 4.4% หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มมีการปรับลดลงและอาจจะเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำได้ แต่ทองคำคาดว่าจะมีปัจจัยลบ ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนกันยายนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และกองทุนอีทีเอฟทองคำ SPDR ยังเทขายทองคำอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปีนี้กองทุน SPDR กลับมาซื้อทองในช่วงเริ่มเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยเข้ามาซื้อทองในเดือนมีนาคมสูงถึง 62 ตัน และได้ซื้อทองเพิ่ม 3 ตันในเดือนเมษายน ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมได้ขายทองคำออกมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือนกันยายน

ซึ่งนับว่าเป็นการขายทองติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 5 แล้ว ทำให้ปัจจุบันกองทุน SPDR (ณ วันที่ 28 กันยายน 2565) ถือครองทองคำ 940 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 หรือช่วงเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด

การเทขายทองคำของกองทุนอีทีเอฟทองคำขนาดใหญ่ที่สุดอย่างกองทุน SPDR และเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทต่อตลาดทองคำ ทำให้เป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ

สำหรับเงินบาทในเดือนกันยายนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายหลังการประชุมเฟด ถึงแม้ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1%

แต่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังสูงกว่าไทยถึง 2.25% ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากไทย และเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทในปีนี้ (ณ วันที่ 28 กันยายน 2565) ที่อ่อนค่าลงราว 14% เป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองแท่งในประเทศ ทำให้การลงทุนทองแท่งในปีนี้ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4% ถึงแม้ว่าราคาทองคำ spot ในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง 9%