ระดมทุน หุ้นกู้ ปีนี้ ThaiBMA คาดทำลายสถิติสูงสุด 1.3 ล้านล้านบาท

หุ้น-1

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดระดมทุนออก “หุ้นกู้” ใหม่ปีนี้ คาดทำลายสถิติสูงสุด 1.3 ล้านล้านบาท ไตรมาส 4 ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.แล้วไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท ครบดีลอีกกว่า 1.3 แสนล้านบาท กลุ่มพลังงานครองแชมป์-หุ้นกู้ดิจิทัลโตกระฉูด

วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว หรือ “หุ้นกู้” ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) มีมูลค่า 997,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็น 96% ของมูลค่าการออกในปีที่แล้วทั้งปี โดยโตขึ้นมาเกือบทุกเรตติ้ง ตั้งแต่ AA, A, BBB ไปจนถึง High Yield

และพบว่าการเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไป (PO) ขยายตัวมากขึ้น หรือมีสัดส่วนเกือบ 30% โดยเฉพาะในรูปแบบของหุ้นกู้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็น 3% จากเดิม 0.6% ในปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้ดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 10 รุ่น ยอดออกรวม 31,095 ล้านบาท จากจำนวน 7 บริษัท ซึ่งเป็นการขยายฐานนักลงทุนรายใหม่ ๆ ให้เข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น และช่วงที่เหลือของปีนี้ยังจะเห็นอีก 2 บริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล

ปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนบุคคลในตลาดหุ้นกู้ 36.46% ตามมาด้วยกลุ่มประกันภัย 17.7% รองลงมากองทุนการออม (PVD, กบข.และกองทุนการออมต่าง ๆ) 12.7% ตามมาด้วยสหกรณ์ 12.01% และกองทุนรวมอีก 9.6% ที่เหลือจะเป็นรายย่อย ๆ

โดยแม้ว่าช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจะมีการออกหุ้นกู้น้อยกว่าไตรมาสอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงปลายปี แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ยอดการออกหุ้นกู้จะทำลายสถิติสูงสุด น่าจะเป็นออลไทม์ไฮ (all time high) หรือน่าจะไม่ต่ำกว่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เพราะสัดส่วนที่มีการยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต.แล้วไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท และมีส่วนที่ออกหุ้นกู้ทดแทนหุ้นกู้ครบกำหนดเดิม (roll-over) ในไตรมาส 4 ประมาณกว่า 1.3 แสนล้านบาท อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เซ็นทรัลพัฒนา, โลตัสส์, ไทยเบฟเวอเรจ, ทีพีไอโพลีน เป็นต้น

“ปีนี้เป็นปีที่กลุ่มพลังงานออกหุ้นกู้เยอะมาก ทั้งเครือ ปตท.มาหมดเลย หลัก ๆ อาจจะไปรีไฟแนนซ์เงินกู้สถาบันการเงิน โดยฉวยจังหวะในการล็อกต้นทุนดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งพบว่ามียอดออกหุ้นกู้เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 23% ตามาด้วยอันดับ 2 กลุ่มอสังหาฯ 14% อันดับ 3 ปิโตรเคมี 13% อันดับ 4 ไฟแนนซ์ 13% และอันดับ 5 ไอซีที 9%” นางสาวอริยากล่าว

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยถือว่าเติบโตต่อเนื่อง แม้จะถูกกดดันจากการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 15.67 ล้านล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชน แม้ว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมูลค่าลดลงก็ตาม

ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3/65 จากการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงขยับตัวสูงขึ้นต่อ ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 2 ปี และ10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 123 bps. และ 132 bps. จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.88% และ 3.21% ณ สิ้นเดือน ก.ย.

ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3 จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ส่งผลให้การออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 32 pbs. จากเมื่อสิ้นไตรมาส 2 โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อันดับเครดิต AAA มีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.35%, AA ที่ 3.68%, A ที่ 3.89%, BBB+ ที่ 5.03% และ BBB ที่ 5.98%

และกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในเดือน ก.ค. นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ภายหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับเข้าซื้อสุทธิเล็กน้อยในเดือน ส.ค. แต่เมื่อเริ่มมีความชัดเจนในเดือน ก.ย. ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการขายตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.

ทำให้ในไตรมาส 3 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 3.25 หมื่นล้านบาท มียอดการถือครองตราสารหนี้ไทย 9.89 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 8.5 ปี