“เงินติดล้อ-ศรีสวัสดิ์” ไม่หวั่น ออมสิน ตั้ง Non-Bank คุมดอกเบี้ยตลาด

“เงินติดล้อ-ศรีสวัสดิ์” ผู้ประกอบธุรกิจ Non-Bank ประสานเสียง ไม่ได้รับผลกระทบ หลังออมสิน ประกาศตั้งบริษัทลูกลุยสินเชื่อพีโลน แจงลูกค้าคนละกลุ่ม หนุนประชาชนได้ประโยชน์ เข้าถึงสินเชื่อในระบบ

วันที่ 15 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากล่าสุดธนาคารออมสิน ได้ประกาศเตรียมจัดตั้งบริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ขึ้นมาทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลง เพื่อช่วยลูกค้าฐานราก โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 20% ต่อปีนั้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการน็อนแบงก์รายอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ล่าสุด บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ได้ออกมาให้ข้อคิดเห็นเรื่องดังกล่าว

โดยนายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า เงินติดล้อมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจหลักเป็นการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และกลุ่มผู้ใช้สินเชื่อยังเป็นคนละกลุ่มกัน โดยกลุ่มลูกค้าของเงินติดล้อเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน

นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมีจุดแข็งในการให้บริการผ่าน “บัตรติดล้อ” บัตรกดเงินสดหมุนเวียนแบบไม่กดใช้ไม่เสียดอก ที่จะช่วยให้ผู้ขอสินเชื่อทะเบียนรถสามารถกดเงินสดตามวงเงินสินเชื่อของตนเองผ่านตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั่วประเทศ ช่วยให้สามารถเข้าถึงเงินทุนในยามที่ต้องการ ได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็วและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารขอสินเชื่อใหม่ และลดต้นทุนการเดินทางมารับบริการที่สาขา เพื่อให้สามารถนำเงินไปใช้แก้ปัญหาหรือฟื้นฟูกิจการของตนเอง และยังเป็นการลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนายหน้าประกันภัยได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และสามารถเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ส่งผลให้รายได้ที่มาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ธนาคารหันมาให้ความสนใจกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเกษตรกร ที่มีหลักแหล่งรายได้ไม่แน่นอน เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนกลุ่มฐานราก (underbanked) มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น ส่วนด้านของผู้ประกอบการ non-bank จำเป็นต้องปรับตัวและสร้างพื้นฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถรองรับการแข่งขันทางธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเงินติดล้อให้ความสำหรับกับการสร้างพื้นฐานธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายปิยะศักดิ์กล่าว

เช่นเดียวกับนางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กล่าวว่า กรณีที่ภาคธนาคารจะตั้งน็อนแบงก์ขึ้นมาปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจของเครือศรีสวัสดิ์ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 6% ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ 35% ธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดิน 36% และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ 23% โดยสัดส่วนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนน้อยที่สุดของบริษัท จึงคาดว่าจะไม่กระทบ เนื่องจากบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และที่ดินเป็นหลัก

อีกทั้งแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ธุรกิจเกิดความแข็งแกร่ง โดยจะมีการเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจเดิมตั้งแต่ปี 2566 เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครือศรีสวัสดิ์

ทั้งนี้ การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจ Non-bank ถือว่าอยู่ในระดับสูงด้วยจำนวนบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้น และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปิดตัวเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อีกทั้งได้ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการกระบาดโควิดระลอกใหญ่ จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มเกิดการขับเคลื่อน ความต้องการของสินเชื่อส่วนบุคคลจึงปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ภาคธนาคารเล็งเห็นถึงโอกาสในเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นได้


“ที่ผ่านมาในกลุ่มอุตสาหกรรมน็อนแบงก์ได้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่มากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันในทุกรูปแบบ และบริษัทได้พยายามปรับตัวมาโดยตลอด การที่กลุ่มแบงก์จะลงมาทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน จึงมองว่าเป็นธรรมชาติของการแข่งขัน ซึ่งประชาชนต่างหากที่ได้ประโยชน์ และเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เขาเหล่านั้นได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ สำหรับบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลของศรีสวัสดิ์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทโฟกัสการหาพันธมิตรใหม่ การรุกเข้าสู่ธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทั้งเครือ โดยธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป” นางสาวธิดา กล่าว