ลุ้นประชุม เฟด-บีโออี กดดันเงินบาท กรุงศรีฯคาดขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 37.50-38.20 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ประชุมเฟด-บีโออี-ตัวเลขการจ้างงาน” ด้าน “กรุงศรีฯ” คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% พร้อมการส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงิน คาดท่าทีแข็งกร้าวกดดันเงินสกุลอื่น-บาทอ่อนค่าต่อ

วันที่ 30 ตุลาคม 2565 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2565) อยู่ที่ 37.50-38.25 บาทต่อดอลลาร์ การซื้อขายค่อนข้างผันผวน

โดยเหตุการณ์สำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกจะอยู่ที่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. 2565 ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% โดยตลาดจะรอดูการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟด ซึ่งจะมีผลต่อการคาดการณ์การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ว่าจะขึ้นในอัตราที่น้อยลงหรือไม่

นอกจากนี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ขณะที่ในประเทศ ติดตามดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 65 และเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 65

“หากมีสัญญาณว่าเฟดจะลดความแข็งกร้าวในการคุมเข้มนโยบายหลังเดือน พ.ย. เงินบาทจะแข็งค่าต่อได้ ในทางกลับกัน กรณีที่เฟดไม่ปรับโทน ตลาดจะกลับเข้าซื้อดอลลาร์ ส่งผลให้สกุลเงินต่าง ๆ รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ร่วมตลาดมีความหวังมากขึ้นว่าเฟดอาจจะเบามือก่อนสิ้นปีนี้ และขายดอลลาร์มารอพอสมควรแล้ว”

ค่าเงินผันผวน จับตาฟันด์โฟล์ว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37.50-38.20 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและตลาดให้ความสำคัญจะเป็นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงิน และคอมเมนต์เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอ

รวมถึงติดตามตัวเลขการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5% หากตัวเลขออกมาชะลอลงเหลือ 4.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นสัญญาณที่ดีว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ต้องดูตัวเลบเทียบเดือนก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ +0.3% ถือว่าสูงอยู่

นอกจากนี้ ติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) หากเร่งขึ้นดอกเบี้ย ภายใต้เศรษฐกิจชะลอ อาจเห็นค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่า รวมถึงค่าเงินในสกุลหลักกลับมาย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี มองค่าเงินในสัปดาห์ยังคงผันผวนอยู่พอสมควร

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 8,500 ล้านบาท สะท้อนบรรยาการลงทุนของหุ้นไทยดีกว่าตลาดอื่น ทำให้เห็นการกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุน อย่างไรก็ดี แนวโน้มในสัปดาห์หน้าคาดว่านักลงทุนยังคงกลับมาซื้อได้บ้าง แต่ไม่เยอะเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดรอดูผลการประชุมเฟด และสถานการณ์จีนที่กลับมาล็อกดาวน์เมืองจากโควิด-19 คาดว่าจะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นราว 5,000 ล้านบาท

ส่วนตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 5,200 ล้านบาท เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ระยะ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่แนวรับ 4% ซึ่งนักลงทุนพร้อมจะเทขายทำกำไร (Take Profit) แต่หากกรณีบอนด์ยีลด์ลงมาไม่เยอะราว 0.10% คาดว่านักลงทุนจะเข้ามาซื้อสุทธิไม่เยอะในสัปดาห์ราว 2,000-3,000 ล้านบาท หากไม่เห็นเฟดเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน

“กรอบค่าเงินสัปดาห์หน้าค่อนข้างผันผวนอยู่ที่ 37.50-38.20 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจัยเฟดที่ทำให้ตลาดผันผวนสูง แต่เราคิดว่าเฟดยังไม่น่าจะส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงิน หรือชะลอขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ต้องจับตามองมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟด เพราะครั้งก่อนมีเจ้าหน้าที่บางรายออกมาคอมเมนต์ว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และเห็นค่าเงินสกุลหลักย่อตัวได้”