ธปท.ยันทุนสำรองลดจากการตีมูลค่า พร้อมแทรกแซงค่าเงินหากหลุดปัจจัยพื้นฐาน

ธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยันทุนสำรองลดฯ จากการตีมูลค่า พร้อมแทรกแซงค่าเงินหากหลุดปัจจัยพื้นฐาน

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน “การประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565” ว่า การดำเนินนโยบายการเงินให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสมจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.เงินเฟ้อ และ 2.อัตราแลกเปลี่ยน

แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังจำกัด

โดยในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ หากดูแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดจากวัฏจักรเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างเริ่มฟื้นตัว และความต้องการบริโภคสินค้าของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแตกต่างจากบริบทของเศรษฐกิจในหลายประเทศคู่ค้าหลัก

ขณะเดียวกัน หากดูเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ 1-3% โดยเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 2.3% และเงินเฟ้อ 5 ปีข้างหน้ายังอยู่ที่ 2.4% ซึ่งก็อยู่ค่ากลางของกรอบเป้าหมาย และหากดูเงินเฟ้อระยะสั้นของภาคธุรกิจและครัวเรือน จะเห็นว่าคาดการณ์ของธุรกิจทรงตัวอยู่ที่ 4.5-4.7% และครัวเรือนปรับลดลงเหลือ 2.6% จากเดิมอยู่ที่ 3% สะท้อนว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนมองว่าเงินเฟ้อยังมีเสถียรภาพและจะกลับลงมาได้

เงินอ่อนค่าทั่วโลกจากดอลลาร์แข็งค่า 18%

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นว่าก่อนและหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งมาจากดอลลาร์แข็งค่า โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าประมาณ 18% เป็นการแข็งค่าในรอบ 20 ปี โดยเงินบาทอ่อนค่าราว 12-13% ถือว่าอ่อนค่าระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีประเทศที่อ่อนค่า เช่น เกาหลี ไตหวัน และมีที่อ่อนค่าน้อยกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดย ธปท.เป็นกังวลจากการอ่อนค่าของเงินบาทหรือไม่นั้น มองว่า หากเงินบาทเคลื่อนไหวจนมีนัยต่อเศรษฐกิจ ธปท.ก็ยังสามารถดูแลได้ เพราะมีศักยภาพเพียงพอ (capacity) ที่ทำได้ สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง เป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่ง ธปท.สามารถเข้าไปดูแลเมื่อค่าเงินบาทผันผวนอย่างผิดปกติจนไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยพื้นฐาน

และหากดูเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเงินเฟ้อ จะเห็นว่ากรณีเงินบาทอ่อนค่า 1 บาทจะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นประมาณ 0.6-0.7% และหากเงินบาทแข็งค่า 1 บาท ราคาสินค้านำเข้าจะปรับลดลงประมาณ 0.4-0.5% ดังนั้น หากดูการส่งผ่านไปยังผู้บริโภคและเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับต่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้สูงจนน่ากังวล

ยันทุนสำรองฯ ลดจากตีมูลค่าทรัพย์สิน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริมว่า กรณีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลง ซึ่งโดยหลักการทุนสำรองฯ ที่ปรับลดลงได้จาก 2 ปัจจัย คือ

1.จากการตีราคามูลค่าสินทรัพย์ลดลง เช่น สกุลเงินยูโร เยน หากเทียบกับดอลลาร์ก็มีมูลค่าลดลง และ

2.จากการเข้าดูแลค่าเงิน

ซึ่งที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่ที่เงินทุนสำรองฯ ของไทยลดลง จะมาจากกรณีของการตีมูลค่าราคาสินทรัพย์ที่ลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของทุนสำรองฯ ที่ลดลง ส่วนการเข้าไปดูแลค่าเงินเป็นบางช่วงที่มีความผันผวน ทั้งนี้ มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับไปตามปัจจัยพื้นฐาน จะเป็นกลไกที่ดีในการรับแรงกระแทกจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

ปิติ ดิษยทัต

“โดยตอนนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ได้ปรับนอกเหนือปัจจัยพื้นฐาน หรือหลุดกรอบปัจจัยพื้นฐาน ขณะเดียวกันเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ก็มีพอสมควร ทั้งการแทรกแซงค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไทยค่อนข้างแตกต่างจากญี่ปุ่นพอสมควร และเงินทุนสำรองฯ เรามีเพียงพอหากดูจากเกณฑ์วัดต่าง ๆ เช่น สัดส่วนทุนสำรองฯ ต่อหนี้ระยะสั้น 3.4 เท่า ถือว่าค่อนข้างเยอะ หรือแม้ว่าจะรวมหนี้ระยะยาว ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้นำมาพิจารณารวมอยู่ด้วย ก็พบว่าไทยความเพียงพอของเงินทุนสำรองกว่า 200%”

ฟันด์โฟลว์ไหลออกจำกัด

นายปิติกล่าวว่า กรณีมีคำถามว่าหากเจ้าหนี้ต่างประเทศมีการเรียกคืนเงินหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่มีสัดส่วนกว่า 46% และภายใต้สถานการณ์ตลาดการเงินผันผวน จะมีผลต่อเงินทุนอย่างไรนั้น มองว่าความเสี่ยงเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกมีค่อนข้างจำกัด หากดูข้อมูลตั้งแต่ต้น-ปัจจุบันเงินทุนยังไหลเข้าค่อนข้างเยอะ โดยตลาดหุ้นไหลเข้าและมีความยืดหยุ่น และปรับลดลงน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ตลาดหุ้นปรับลดลง 20% แม้ว่าตลาดพันธบัตร (บอนด์) จะมีเงินไหลออกเล็กน้อยก็ตาม

และสิ่งที่นักลงทุนมอง คือ วัฏจักรเศรษฐกิจที่ไทยอยู่ระหว่างขาขึ้น สวนทางกับเศรษฐกิจโลก และความน่าเชื่อถือของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไม่ได้ปรับลดลง และทุนสำรองที่มีค่อนข้างเยอะจึงไม่น่ามีผล โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวด้วย 2 มิติ คือ ปัจจัยภายในและภายนอก แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่หากดูปัจจัยภายในไม่ได้สะท้อนการอ่อนค่าของเงินมากเมื่อเทียบกับเกาหลี

“ปัจจุบันมีการพูดคุยกันว่า เฟด ได้ดำเนินนโยบายการเงินไปเยอะแล้ว ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงระบบการเงินของโลก และประเทศเกิดใหม่ที่มีหนี้เป็นสกุลดอลลาร์ จะทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องเข้าโปรแกรม IMF ซึ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น เฟดเองก็ต้องระวังความเสี่ยงด้วย

ดังนั้น ไทยจะตอบสนองนโยบายการเงินต่ออัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ ก็ต้องดูว่าส่งผลกระทบต่อราคา เศรษฐกิจ และระบบการเงิน ซึ่งมองไปข้างหน้าแม้เงินบาทอ่อนค่า 12% แต่ไม่มีปัญหาอะไร ฟันด์โฟลว์ปกติ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มีสัญญาณชัดเจนว่ากระทบ เราไม่ได้พึ่งเงินดอลลาร์หรือมีหนี้เป็นดอลลาร์เยอะ แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องดูแลไม่ให้ผันผวนเกินไป จนไปเป็นประเด็นต่อการตอบสนองนโยบายการเงิน”

ท่องเที่ยวฟื้น หนุนดุลบัญชีพลิกบวกปี’66

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาพรวมยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.3% และปี 2566 ขยายตัวที่ 3.8% โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/65 ภายหลังจากมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้ ธปท.มีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม โดยในปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และในปี 2566 ปรับจาก 19 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน

ขณะที่ตลาดแรงงาน พบว่าผู้เสมือนว่างงานและว่างงานตัวเลขลดลงต่อเนื่องและกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ฟื้นตัวและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 5.6%

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

ขณะเดียวกันจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวคาดว่าตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดจะทยอยขาดดุลน้อยลงและกลับมาเป็นบวกอ่อน ๆ ได้ในปี 2566 อยู่ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์ จากในปีนี้คาดว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้น 14.1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันขาดดุลฯ อยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามผลจากราคาน้ำมันและค่าระวางเรือ

“หากดูความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปรับมาเป็นสมดุลมากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีขึ้นและมากกว่าคาด คาดว่านักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาได้ในไตรมาสที่ 4 นี้ และการลงทุนที่อาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวการณ์เงินตึงตัวจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึงปัญหา Global supply disruption ที่คลี่คลายช้ากว่าคาดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนการเติบโตปีนี้ที่คาดว่า 3.3% ยังไม่ได้รวมปัจจัยน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมยังไม่เข้าในพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ ธปท.ยังติดตามข้อมูลใกล้ชิด”