แบงก์คาดเลิกผ่อนเกณฑ์ LTV กระทบสินเชื่อ 6 พันล้าน

สินเชื่อที่อยู่อาศัย

แบงก์ประเมินเลิกผ่อนเกณฑ์ LTV ฉุดยอดสินเชื่อบ้านวูบ 6 พันล้านบาท “กสิกรไทย” คาดกระทบแค่ครึ่งแรกปี’66 ส่วนครึ่งปีหลังเชื่อตลาดปรับตัวได้ “ทีทีบี” ประเมินพอร์ตบ้านหลังที่ 2-3 ถูกหางเลขแค่ 10% ชี้ไม่ต้องปรับกลยุทธ์ปล่อยกู้บ้าน ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” คาดเป็นแรงหนุนผู้บริโภคเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปีนี้

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต่ออายุการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV)

หลังจากสิ้นปี 2565 นี้ไปนั้น น่าจะกระทบต่อยอดขายบ้านใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จากนั้นดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีตามการปรับตัวของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

“คาดว่ายอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะปรับลดลงเพียง 2-3% หรือราว 5-6 พันล้านบาท จากยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5-6 แสนล้านบาท เนื่องจากการซื้อบ้านใหม่มีสัดส่วนประมาณ 80% ของยอดขายทั้งหมด ในจำนวนดังกล่าวมีราว 10% ที่เป็นการซื้อบ้านหลังที่ 2 ขณะที่บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท ที่จะต้องมีการวางดาวน์เพิ่มเติม มี 20% จึงกระทบค่อนข้างน้อย”

นอกจากนี้ มองว่า ไม่ได้กระทบกับแบงก์ เพราะถือเป็นการลดความเสี่ยง จากการที่ลูกค้าต้องมีเงินดาวน์บางส่วนก่อนมาขอสินเชื่อ และการอนุมัติสินเชื่อจะเป็นไปตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งในช่วงภาวะดอกขาขึ้น การผ่อนชำระค่างวดเพิ่มขึ้น หากลูกค้ามีรายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อ (rejection rate) ทยอยเพิ่มขึ้น

“ผลจากการไม่ต่ออายุการผ่อนเกณฑ์ LTV อาจจะทำให้ยอดขายสะดุดเล็กน้อย แต่ไม่มาก เพราะทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม เพียงแต่การผ่อนคลายของ ธปท.ต้องการกระตุ้นให้คนรวยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคนกลุ่มนี้ต้องกลับมาดาวน์เพิ่ม 10-20% จากราคาบ้าน 10 ล้านบาท หรือราว 2 ล้านบาทไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ หากภาครัฐมีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมและภาษีการโอน ก็น่าจะมาช่วยชดเชยเรื่องยอดขายที่ลดลงได้”

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) และกรรมการผู้จัดการ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า การไม่ต่ออายุมาตรการ LTV จะทำให้มาตรการจะกลับไปเหมือนเดิม ช่วงปี 2562 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งยอมรับว่ากระทบต่อตลาดและธนาคารเล็กน้อย แต่ไม่ได้รุนแรง โดยธนาคารยังไม่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย

“เบื้องต้นจากการประเมินผลกระทบ น่าจะมีประมาณ 10% ของยอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นตัวเลขของกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 ประกอบกับตลาดมีการปรับตัวไปแล้วบางส่วน และบางส่วนก็มีการวางเงินดาวน์ปกติ 10-20% ขณะที่กลุ่มบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ”

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV ที่จะมีผลในปี 2566 นั้น น่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคจะเร่งตัดสินใจซื้อและโอนที่อยู่อาศัยภายในปีนี้ ซึ่งจะหนุนตลาดเติบโตราว 15-20%

สำหรับผลกระทบจากมาตรการ LTV จะเป็นกลุ่มบ้าน ราคา 3-10 ล้านบาท หลังที่ 2 และ 3 ที่จำเป็นต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเติม 10-20% ซึ่งมีสัดส่วนราว 33% ของตัวเลขบ้านใหม่ทั้งหมด

“ธปท.ต้องการลดหนี้ครัวเรือน และการเก็งกำไรในอสังหาฯ จากก่อนหน้านี้ที่ต้องการกระตุ้นอสังหาฯ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจหลายภาคส่วน แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น มาตรการควรกลับไปที่เดิม ซึ่งกลุ่มระดับล่างบ้านหลังแรกจะไม่ได้รับผลกระทบ

และกลุ่มระดับบนที่มีรายได้สูง จะไม่ได้สนใจมาตรการนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แต่คนที่ซื้อระดับกลางหลังที่ 2 และ 3 อาจจะมีผลลบจากมาตรการนี้ แต่โดยรวมคาดว่าตลาดอสังหาฯ น่าจะยังโตเป็นบวกอ่อน ๆ ได้ 8% ในปีหน้า จากปีนี้น่าจะโต 6%”