2566 พลิกประเทศรับวิกฤต รัฐบาลใหม่ฝ่าปัจจัยเสี่ยง ศก.

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ,ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์,เมธี สุภาพงษ์

3 กูรูเศรษฐกิจ “เมธี-ศุภวุฒิ-สมเกียรติ” ขึ้นเวที Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย แบงก์ชาติมองบวก GDP ขยายตัว 3% เงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงฉุด GDP นักท่องเที่ยว-ส่งออก-บริโภคต่ำ-เงินเฟ้อสูง ยังยึดนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้าน ดร.ศุภวุฒิชี้ ดอกเบี้ยยังเป็นความเสี่ยงหลัก การส่งออกไทยเห็นสัญญาณชะลอตัว เงินบาทอ่อนค่ากว่าภูมิภาค ขณะที่ ดร.สมเกียรติบอกเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้ว แนะพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งได้ด้วยการ Remake ประเทศ ช่วย SMEs สร้างทักษะแรงงาน ทำนวัตกรรมแก้จน และปฏิรูปภาครัฐ

ศก.โลกเผชิญเงินเฟ้อ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” จัดโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ในวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ดูได้จากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้เพียง 2.7% ปรับลดลงจากประมาณการเดือนกรกฎาคม 0.2% และสหรัฐขยายตัวได้ 1% ขณะที่ยุโรปขยายตัวได้เพียง 0.5% หรือลดลง 0.7% ส่วนจีนขยายตัว 4.4% ปรับลดลง 0.2%

การขยายตัวที่ลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะ “อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น” ส่งผลให้เกิดการทำนโยบายการเงินเพื่อต่อต้านเงินเฟ้อ การดูดซับสภาพคล่องกลับทั้งของธนาคารกลางและภาครัฐ รวมถึงผลจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ส่งผลด้านราคา ซึ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อและกระทบต่อกำลังซื้อปรับลดลง ทำให้บางประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูง

และหากดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในประเทศหลัก ๆ ยังอยู่ระดับสูง โดยในส่วนของสหรัฐคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.1% และปี 2566 จะลดลงเหลือ 3.5%, ยุโรป 8.3% เหลือ 5.7%, อังกฤษ 9.1% เหลือ 9.0%

เงินสกุลหลักอ่อนค่า

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงส่งสัญญาณ “เร่งขึ้น” อัตราดอกเบี้ยและมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ล่าสุดคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 1% ทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อกในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และ FOMC คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยในปี 2566 จะอยู่ที่ 4.6% จาก ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1.6% ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและสกุลเงินอื่นปรับอ่อนค่าลง

และหากดูเฉพาะค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่า ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแล้ว 16% และส่งผลให้ค่าเงินเศรษฐกิจหลักหลายประเทศ “อ่อนค่ามากกว่าประเทศเกิดใหม่ (emerging markets)”

“จากการขึ้นดอกเบี้ย สินทรัพย์เดิมที่เคยคิดว่าปลอดภัย เช่น บอนด์ หุ้นกู้ กลับไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนติดลบมาก เราจะเห็นว่าบอนด์ในหลายประเทศมีปัญหาสภาพคล่องแม้เป็นของรัฐบาลเอง หรืออังกฤษก็มีปัญหา ทำให้ผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็แย่ลง ดังนั้นหากดูกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศวันนี้พบว่า ติดลบแทบทุกกองทุนและพยายามย้ายไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ไปสู่การลงทุนในภาครัฐหรือบริษัทเรตติ้งดี แม้ว่าไม่ปลอดภัยทางด้านผลตอบแทน แต่ไม่โดนเบี้ยวหนี้” นายเมธีกล่าว

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยเงินออกไปสู่ระบบค่อนข้างมากภายใต้การเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลต่อภาระหนี้ของภาครัฐ เอกชนที่เพิ่มขึ้นก็เพราะว่า “หลายประเทศมีการกู้เงินเยอะ” จึงเป็นช่วงที่ต้องมาดูว่า จะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ภาระหนี้ยิ่งเยอะ หลายประเทศกู้ต่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐมีหนี้ภาครัฐสูงถึง 128% ของ GDP หรืออังกฤษ 95% ของประเทศไทยเองหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 60% ของ GDP แต่หากดูภาระหนี้ของโลกสูงสุดถึง 256% ของ GDP ถือว่าสูงสุดในรอบ 50 ปี เห็นอย่างนี้ “เราต้องกลัวหรือไม่” สำหรับวิกฤตหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศมาก จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ภาระเงินต้นมากขึ้น ดอกเบี้ยก็ขึ้น ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป

ภูมิรัฐศาสตร์ผลกระทบต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็คือ “ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)” ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน จีนภายในประเทศก็มีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด หรือ Zero COVID ทำให้มีการเปิดและปิดประเทศ

“ความขัดแย้งเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์จะเห็นการเปลี่ยนขั้วจากเดิมที่ทุกคนสามารถเล่นได้ทุกตลาด แต่หลังจากนี้การจับขั้วจะแน่นขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นที่เราจะต้องสร้างความสมดุลหรือมีนโยบายด้านต่างประเทศในเรื่องของ globalization”

IMF คาดเศรษกิจไทยฟื้นตัว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประมาณการล่าสุดปีนี้คาดว่า จะขยายตัว 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 3.8% ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวดีขึ้นในปี 2566 ใน 78 ประเทศจากทั้งหมด 185 ประเทศ “แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวก็ตาม”

โดยแรงส่งสำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 2566 การบริโภคเอกชน 3.3% แม้ว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวจากปีนี้อยู่ที่ 8.2% และปีหน้าอยู่ที่ 1.1% ทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณการส่งออก ซึ่งภาพรวมวัฏจักรเศรษฐกิจในปี 2566 มองว่า “จะขยายตัวมากกว่าปีนี้”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราการเติบโตจะสูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน โดยอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มลดลง โดยในปีนี้อยู่ที่ 6.3% “ซึ่งได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว” แต่คาดว่าจะลดลงจากเดือนกันยายน ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 2.6% และจะกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% โดยไทยเป็น 1 ในประเทศที่ IMF คาดว่า เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในปี 2566

“ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีหน้า ซึ่งก็มีแค่ 14 ประเทศจาก 70ประเทศที่เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย เพราะเงินเฟ้อไทยมาจากต้นทุนก๊าซ-น้ำมัน และการส่งผ่านราคาต้นทุนยังสูงขึ้น แต่น้อยกว่าปีนี้ และน้อยลงพอสมควร” นายเมธีกล่าว

เสถียรภาพการเงินไทยยังดีอยู่

ด้านภาวะการเงินของไทยโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ระบบการเงินมีเสถียรภาพและฐานะการเงินของธนาคารยังแข็งแรง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.00% ต่อปี และหากดูพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้นปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายและระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นตามสหรัฐ โดยบอนด์อายุ 10 ปีของไทยอยู่ที่กว่า 3% และสหรัฐ 4% สะท้อนภาวะการเงินยังผ่อนคลาย ขณะที่ระบบการเงินยังมีเสถียรภาพพอสมควร

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท นายเมธียอมรับว่า “อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก นับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 12% หากเทียบกับดอลลาร์” แต่การอ่อนค่าสอดคล้องกับภูมิภาค แต่จะเห็นว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศถือว่า “ยังดีอยู่” โดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.28 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หรือเทียบได้ 8 เดือนของการนำเข้า ถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างสูง

ด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) “ก็ยังไม่มีเหตุผิดปกติ” โดยเงินทุนไหลออกเห็นมีบ้างในตลาดบอนด์ ส่วนตลาดหุ้นยังเห็นการไหลเข้าในช่วงหลัง โดยรวมตลาดหุ้นและบอนด์ยังคงเป็นบวกกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี และไทยยังเป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิอยู่ ประกอบกับที่ผ่านมาไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย และคาดการณ์ว่าจะเกินดุลต่อเนื่องหากท่องเที่ยวยังเป็นทิศทางนี้ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 1.5 ล้านคน จะช่วยดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกและช่วยพยุงค่าเงินให้มีเสถียรภาพ

“ความเสี่ยงประเทศไทย หากดูจาก CDS spreads หรือส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน ตอนนี้อยู่ที่ 0.91% ดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย จีน ฟิลิปปินส์ และการอ่อนค่าของเราอยู่ที่ 12% หากเทียบดอลลาร์ จนถึงตอนนี้คิดว่ายังไม่ส่งผลต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อาจมีบ้าง แต่คงไม่มีผลรุนแรง แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่หากดูดัชนีค่าเงินบาท NEER เทียบคู่ค้า 25 ประเทศ เงินบาทอ่อนค่า 1.8%” นายเมธีกล่าว

4 จุดเสี่ยงฉุด GDP โตต่ำ 3%

กรณีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หรือต่ำกว่า 3% “จะเกิดอะไรขึ้น หลัก ๆ มีอยู่ 3-4 เรื่อง” ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องต่ำกว่า 19 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนไม่มาเลย 2) การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.1% หากตัวเลขออกมาไม่ถึงและเติบโตติดลบ 2% 3) การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่า จะโต 3.3% แต่ออกมาเพียงกว่า 1% และสุดท้าย 4) อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 5% โดยราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปสูงที่ระดับ 144 เหรียญ/บาร์เรล จากคาดการณ์อยู่ที่ 100 เหรียญ/บาร์เรล

ยึดนโยบายค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองคงดำเนินนโยบายการเงินอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป หรือ Gradual and Measured” โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงและให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ต้องชั่งน้ำหนักจากหลายเป้าหมาย เช่น เงินเฟ้อ หนี้ภาคครัวเรือน หนี้เอกชน และยังมีหลายเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการปรับดอกเบี้ย นอกจากนี้ ภาวะการเงินโดยรวม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ดอกเบี้ยไม่สูงมาก ถือว่าสภาวะสภาพคล่องในตลาดยังไปได้ ยังไม่เข้มขึ้นมาก

“ส่วนนโยบายด้านอื่น ๆ ที่ควรดำเนินการคือ เรื่องมาตรการทางการเงิน ที่ช่วยลูกหนี้ ช่วยธนาคาร จากเดิมเป็นการปูพรมวงกว้างนั้น “จะต้องค่อย ๆ ถอนมาตรการออกในจุดที่มีความจำเป็นน้อย และช่วยคนที่เปราะบางและตรงจุดมากขึ้น ผ่านการแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมหกรรมแก้หนี้ต่าง ๆ ซึ่งมาตรการพวกนี้จะยุติปี 2566”

ขณะนี้มีบางมาตรการที่ถอนออกไปแล้ว เช่น มาตรการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV)

ส่วนมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF เป็นการให้กู้ยืมบริษัทที่จะ roll over หนี้เห็นควรเลิกในสิ้นปีนี้

แนะรัฐเลิกมาตรการระยะสั้น

สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำก็คือ “มาตรการหวังผลระยะสั้น แต่มีผลระยะยาว” มาตรการระยะยาว มีหลายปัญหามากในประเทศไทย เช่น ผลิตภาพ การลงทุน ผลิตภาพแรงงาน และเรื่อง productivity โดยรวมไม่ดีเท่าไหร่ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เร่งตรงนี้ขึ้น ภาครัฐเองที่จำเป็นไม่เป็นอุปสงค์ต่อการดำเนินงานเอกชน จะต้องมีการทำ regulatory guillotine เช่น สิ่งแวดล้อมที่ทำน้อยและสังคมสูงวัยที่ควรจะทำในระยะยาว หรือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เป็น The Great Remake”

เวียดนามแซงไทย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สาเหตุที่ต้อง Remake เพราะ ไทยในเวทีโลกต้องแข่งขันกัน ภายใต้สิ่งแวดล้อม Geopolitics การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เทคโนโลยี สังคม ผู้สูงอายุ และปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็น Mega Trend ถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปจะอยู่ไม่ได้ สิ่งที่คนไทยรู้สึกต้อง Remake ก็คือ “เราจะถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปเรื่อย ๆ” อย่างการส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทยไปนานพอสมควร และตัวที่แซงมาก่อนหน้านั้นก็คือ การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ เพราะ เวียดนามได้รับอานิสงส์เหมือนประเทศไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ช่วงที่เกิดความขัดแย้งบนเวทีโลก เศรษฐกิจโลกมีปัญหา มีสงครามการค้า ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

“สาเหตุที่เวียดนามมาแรง เพราะมีปัจจัยพื้นฐานเอื้อ แรงงานมาก ค่าแรงต่ำ สงครามการค้าหนุนเสริมการลงทุน อิเล็กทรอนิกส์ย้ายมาเวียดนามเป็นพิเศษ เพราะภาคใต้ของจีนแถบเสิ่นเจิ้นเป็นเขตซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ เมื่อย้ายไปอยู่เวียดนามตอนเหนือ การขนส่งทางบกสามารถทำให้การผลิตยังดำเนินต่อไปได้ ต้นทุนการผลิตก็ถูกลง”

นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังปฏิรูปประเทศต่อเนื่อง โดยการเข้าเป็นสมาชิก WTO เวียดนามเข้าสู่ FTA ต่าง ๆ ที่สำคัญ เข้าเป็นสมาชิก CPTTP และเจรจาความตกลงการค้ากับยุโรป ทำให้ต้องปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยพยายามจะทำ แต่เมื่อมีเสียงคัดค้าน รัฐบาลไม่มีความเข้มแข็งพอ จึงทำไม่ได้

ดังนั้นขีดความสามารถภาครัฐของเวียดนามก็แซงไทยไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ขีดความสามารถของภาครัฐ การคอร์รัปชั่น การรักษากฎหมาย และคุณภาพของระบบราชการ เป็นรองสิงคโปร์ แต่หลังจากวิกฤติ 1997 ปรากฏว่าความสามารถของภาครัฐไทยมันเด้งออกมาแพ้มาเลเซียแพ้เวียดนามไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้รัฐไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญที่ไม่สามารถรักษาการแข่งขันให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ระหว่างธุรกิจใหญ่ ธุรกิจเล็ก พูดตรงไปตรงมาคือ ทุนขนาดใหญ่เอาเปรียบทุนขนาดเล็ก กีดกันการแข่งขัน ผูกขาด

ชงนโยบายให้พรรคการเมือง

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า 4 เรื่องที่ควร Remake ที่จะเพิ่ม Productivity ของประเทศได้และในวาระที่ใกล้กับการเลือกตั้ง จึงเลือกประเด็น Remake ที่สามารถทำได้ในทางการเมือง ซึ่งพรรคไหนทำก็จะชนะเลือกตั้งได้ด้วยการ

1) สร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ถ้าจะเล่นท่ายากจะต้องลุยกับ “ทุนผูกขาด” แต่ถ้าเน้นท่าง่ายและได้คะแนนด้วยก็คือ สร้างความเข้มแข็ง SMEs ให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการหาพี่เลี้ยงเข้าไปช่วย SMEs ซึ่งเคยมีโครงการ เอาผู้เชี่ยวชาญเดินเข้าไปในโรงงาน เดินเข้าไปในสถานประกอบการ วินิจฉัยว่ามีจุดอ่อนเรื่องอะไร เช่น วางแผนสต๊อกไม่ดี ทำการตลาดไม่เป็น ไม่มีระบบบัญชีที่ดีพอ แล้วให้หมอเฉพาะทาง เช่น คนที่เก่งด้านบัญชี ไอที การตลาด การทำออโตเมชั่น เข้ามาช่วย ซึ่งเคยดำเนินการในรัฐบาลทักษิณ 1 แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อ สามารถเอากลับมาทำในเวอร์ชั่นที่เข้มข้นได้และจะได้คะแนนเสียง และถ้าต่อยอดเป็นการทำแบรนด์ ทำมาร์เก็ตติ้งเก่ง ๆ SMEs ไทยก็จะลืมตาอ้าปากได้

2) เรื่องแรงงาน ถ้าจะเล่นท่ายากต้องปฏิรูปการศึกษาของประเทศ แต่ถ้าจะเลือกทำสูตรง่าย ๆ ก่อน จะต้องสร้างทักษะที่ตลาดต้องการ ซึ่งตลาดแรงงานอยากได้งานด้านไอที ไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย 4 ปี แต่เป็นการเข้าคอร์ส 6 เดือน 9 เดือน แล้วสามารถทำอะไรได้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น 3) นวัตกรรม ประเด็นที่น่าจะได้คะแนนเสียงคือ เป็นนวัตกรรมที่ “แก้จน” ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะนวัตกรรมที่แก้ปัญหาเรื่องดินเค็ม ที่ในภาคอีสานมีอยู่ 17 ล้านไร่ และ 4) ปฏิรูปภาครัฐ ปรับกฎระเบียบให้ประชาชนทำมาหากินได้ง่ายขึ้น ทำให้คนต่างด้าวมาลงทุนประเทศไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเบสิกกว่าการขายที่ดินให้คนต่างด้าวที่ถูกเรียกว่าขายชาติมากมาย รวมถึงเรื่องใบอนุญาตทำงาน เรื่องวีซ่า นักลงทุนญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ชาติอื่น ๆ ต้องการทั้งสิ้น

“พรรคการเมืองไหนเอาเรื่องแบบนี้ไปหาเสียง ผมเชื่อว่าได้คะแนนเสียง เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้จริง”

ดอกเบี้ยพุ่ง ส่งออกชะลอตัวลง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ ดอกเบี้ย นวัตกรรม และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็น “จุดอ่อนในจุดเสี่ยง” ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยถือเป็นความเสี่ยงหลักของโลก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังต้องการปราบเงินเฟ้อให้อยู่ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยกันหมด ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยมองว่า มีความเสี่ยง 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย คือ 1) เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัว เมื่ออเมริกาขึ้นดอกเบี้ยและจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในปีนี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3% และจะปรับขึ้นอีกประมาณ 2% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ฉะนั้นตอนนี้ยังเพิ่งครึ่งทาง ขณะที่ในปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอเมริกา คาดว่าจะอยู่ที่ 5% ต่อเนื่องทั้งปี

“ตอนนี้เราเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของการส่งออกไทย จากไตรมาส 1 ปีนี้จนมาถึงตอนนี้ลดลงไปกว่าครึ่งแล้ว ขณะที่การนำเข้าโดยรวมยังไม่ลดลง แต่หากตัดเรื่องการนำเข้าพลังงานออกไป การนำเข้าก็หายไปกว่าครึ่งเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า อนาคตการส่งออกจะลดลง เพราะในจำนวน 30-40% ของการนำเข้า นำมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก จึงต้องติดตามว่า การส่งออกจะโตช้าลงหรือไม่โตเลยก็เป็นไปได้ในปีหน้า” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

เริ่มขาดดุลด้านเงินทุน

แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือเรื่อง “ดุลชำระเงิน” ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัด โดยคาดหวังว่าจะดีขึ้น เพราะการท่องเที่ยว แม้จะขายสินค้าได้น้อยลง แต่ขายบริการท่องเที่ยวได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ตอนนี้เริ่มเห็นการไหลออกของเงินทุนแล้ว “จากไตรมาส 1 ของปีนี้ ประเทศไทยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ฉะนั้นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เป็นไร แต่พอมาไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 ก็เริ่มเห็นแล้วว่า สุทธิแล้วไทยเริ่มขาดดุลทางด้านเงินทุนด้วยเพราะ อเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่วนต่างดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นและจะสูงขึ้นไปอีก หลังจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 1-2 พ.ย.ไปจนกระทั่งทั้งปี 2566 จนกว่าดอกเบี้ยอเมริกาจะอยู่ที่ 5% ก็เป็นได้ ส่วนดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ที่ 1% กว่า อันนี้น่าเป็นห่วง” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขเดือนกันยายนที่เพิ่งออกมา ปรากฏดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุล 600 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินขาดดุล 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหมายความว่า คำนวณสุทธิแล้วมีเงินไหลออก 6,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว ถามว่า ตรงนี้จะเป็นจุดที่สร้างความลำบากสำหรับประเทศไทยหรือไม่ในปีหน้า หากการท่องเที่ยวเข้ามาไม่มากพอ ซึ่งเงินทุนจะไหลออกไปอีกมากขึ้น แล้วจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งดูจาก 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณเงินบาทอ่อนค่าลงมาก และหากส่วนต่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเช่นนี้ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยเสี่ยง

“ธปท.บอกว่า ดูจากต้นปี บาทไม่ได้อ่อนมาก แต่ผมบอกเลยว่า ดูจาก 2 เดือนที่ผ่านมา บาทเริ่มอ่อนมากกว่าคนอื่นแล้ว และถ้าส่วนต่างเป็นแบบนี้ เพราะว่าแบงก์ชาติอื่นเขาขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเรา คือไม่มีใครอยากให้ขึ้นดอกเบี้ยหรอก แต่สภาวการณ์บังคับหรือเปล่า ฉะนั้นสำหรับผมเรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยเสี่ยงเรื่องที่ 1” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

เศรษฐกิจต้องโตด้วยนวัตกรรม

เรื่องที่ 2 ที่ต้องตระหนักคือ “นวัตกรรม” เพราะถ้าประเทศจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็ต้องอาศัยนวัตกรรม ต้องอาศัยเทคโนโลยี เพราะถ้าจะโตโดยอาศัยแรงงานมาก ๆ อย่างเดียว ก็ไม่ได้ช่วยให้ GDP โตขึ้นมากเพราะไม่มีคุณภาพ แต่หากทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ทุกอย่างจะไปด้วยกัน แปลว่า “ถ้าอยากจะโต ต้องโตด้วยเทคโนโลยี โตด้วยคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ”

ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จะดันให้รายได้ต่อหัวของไทยเพิ่มขึ้นไปเป็น 9,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งได้กลับไปดูว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมารายได้ต่อหัวไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ฉะนั้นอีก 4 ปีข้างหน้าจะต้องทำอย่างไรถึงจะ “โตได้ขนาดนั้น” โดยเมื่อเห็นงานวิจัยของเซนต์หลุยส์ อเมริกา พบว่า หากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต โดยการใส่แรงงานเพิ่มไปเรื่อย ๆ GDP ก็ไม่ได้โตเร็วขึ้น เนื่องจากไม่มีคุณภาพ แต่หากอยากให้เศรษฐกิจเติบโตจะต้องเติบโตไปด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ ฉะนั้นจุดเสี่ยงที่ 2 ที่ควรตระหนักไว้คือ “นวัตกรรม ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี”

ส่วนประเด็นที่ 3 ก็คือ ความไม่เท่าเทียมที่ธนาคารโลกตีข่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยความยากจนของไทยลดลงเรื่อย ๆ จนถึงปี 2015 จนกระทั่งช่วง 5 ปีหลังมานี้เพิ่มขึ้น

ปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจด้วย DEG

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องให้ความสำคัญกับ DEG คือ Democracy (ประชาธิปไตย) Environment (สิ่งแวดล้อม) และ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ซึ่งในเรื่องประชาธิปไตยประเทศไทยถูกจัดอันดับไม่ค่อยดี อยู่ที่ 72 จาก 167 ประเทศ โดยจุดที่ต่ำกว่าเกณฑ์ก็คือ เรื่องการทำหน้าที่ของรัฐบาล, เรื่องเสรีภาพ ซึ่งหากไทยจะเปิดประเทศ เสรีภาพน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้คนอยากมาเที่ยว, การทำงานของภาครัฐ

ขณะที่เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมก็จะถูกบังคับให้ต้องทำมากขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) จะมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (carbon border adjustment mechanism) เริ่มบังคับใช้ปีหน้าแล้ว ซึ่งต่อไปจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่เข้ายุโรป รวมถึง รัฐสภาของอียูก็เพิ่งผ่านกฎหมายให้ที่ดิน ป่าที่ถูกรุก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2020 เป็นต้นไป หากเป็นที่ดินที่ถูกนำไปใช้ปลูกพืชต่าง ๆ จะห้ามนำผลผลิตเข้าไปยังอียู ซึ่งไทยอาจจะถูกกระทบในเรื่องของยางพารา และ อนาคตจะลามไปถึงสัตว์ อย่างเช่น ไก่

ส่วนเรื่อง Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ตอนนี้เริ่มกังวลกันหลังจีนประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เสร็จ นักลงทุนกังวลกันว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่ค่อยโต ซึ่งจะกระทบทั้งภูมิภาค รวมถึงความกังวลว่าจีนจะจัดการกับไต้หวันอย่างเด็ดขาดมากขึ้น ก็เป็นความกังวลที่จะครอบงำไปอีก 10 ปีข้างหน้า

“ถ้าจะ REMAKE เศรษฐกิจไทย ผมสงสัยว่า คงจะต้องลดการผลิตสินค้าที่จะถูกตำหนิว่า จะทำลายสภาพแวดล้อม แล้วมาเพิ่มบริการต่าง ๆ ที่มี แต่จะดีกับสิ่งแวดล้อมและตัวเราเองเป็น Wellness Economy การดึงดูดคนเก่งและพัฒนาทักษะความสามารถ เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เอามาแทนการประกันรายได้ ประกันราคา ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย” ดร.ศุภวุฒิกล่าว