SINGER กำไร Q3 พุ่ง 58% พอร์ตสินเชื่อโตเฉียด 40%

SINGER โชว์ผลงาน Q3/65 กำไร 261 ล้านบาท เติบโต 58% รายได้รวมอยู่ที่ 1,336 ล้านบาท โต 46% ดันงวด 9 เดือน มีกำไร 742 ล้านบาท พุ่งขึ้น 52% จากการเดินหน้าขยายตลาดเชิงรุก เดินหน้าส่ง “เอสจี แคปปิตอล (SGC)” บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น SET

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดประจำไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคมกันยายน 2565) บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% รายได้รวมอยู่ที่ 1,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46%

สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ ได้แก่ สินค้ากลุ่มตู้แช่ และตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ สะท้อนการมุ่งเน้นการบริหารจัดการพอร์ตสินค้า (Product Mix) ให้ดีต่อเนื่อง รวมถึงรายได้จากสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (C4C) ภายใต้แบรนด์รถทำเงิน โดย บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สามารถขยายพอร์ตให้เติบโตในระดับที่ดีต่อเนื่อง

ด้านผลประกอบการงวดประจำ 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน 2565) บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 742 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% รายได้รวมอยู่ที่ 3,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 46% อัตรากำไรสุทธิ ที่ 32% สำหรับภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 3.7%

โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 15,102 ล้านบาท เติบโตขึ้น 38% จากสิ้นปีก่อน แบ่งเป็น สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 57% และพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 40% คาดทะลุเป้าหมายที่วางไว้ 15,500 ล้านบาทในปีนี้

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/2565 เดินหน้าขยายธุรกิจ ชูจุดแข็ง SINGER เข้าถึงลูกครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสาขาย่อยของซิงเกอร์แฟรนไชส์ที่มีการเติบโต อยู่ที่กว่า 6,120 แห่ง จึงทำให้ SINGER สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ และขยายฐานลูกค้า ลงลึกถึงระดับตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโต พร้อมด้วยการจับมือพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ได้แก่ Ecosystem ของ Jaymart Group และ BTS Group รวมทั้ง GUNKUL, BRR และพันธมิตรรายใหม่ ๆ เพื่อขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และธุรกิจประกันที่กำลังสร้างฐานการเติบโตที่น่าสนใจ

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการผลักดัน บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทแม่อีกด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ SGC ขยายพอร์ตสินเชื่อจากแหล่งเงินทุนของ SINGER เป็นหลัก แต่วันนี้ SGC แข็งแรง และพร้อมสยายปีกโตในตลาดทุน

โดย SGC อยู่ระหว่างเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 820 ล้านหุ้น ประกอบด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 574 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ SINGER ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น


โดยให้ Pre-emptive Right ในอัตราส่วน 1.4326 หุ้นสามัญของบริษัทต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGC ในราคาเสนอขายเดียวกับราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SGC ให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)
ทั้งนี้ SINGER ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น SGC ก่อน IPO 100% และภายหลัง IPO จะมีสัดส่วนการถือหุ้น 74.92%