ไขข้อสงสัย ทำไมต้องแจ้งสิทธิลดหย่อนภาษี SSF/RMF

การลงทุน-กองทุน
โดย : Wealth Management ธนาคารกสิกรไทย

ทำไมต้องแจ้งสิทธิลดหย่อนภาษี SSF/RMF ปี 2565

ในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี จะต้องทบทวนสิทธิลดหย่อนภาษีที่จะใช้ โดยค่าลดหย่อนที่ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีจะนึกถึง นั่นคือ ค่าลดหย่อนจากกองทุนเพื่อการออม (Super Saving Fund : SSF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

ซึ่งช่วงปลายปี 2564 กรมสรรพากรได้มีการออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เรื่อง การใช้สิทธิลดหย่อนจากค่าซื้อกองทุนรวม SSF/RMF ตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ให้แจ้งความประสงค์ที่ใช้สิทธิต่อบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ผู้มีเงินได้ได้ซื้อไว้ สรุปแล้วจะต้องให้ทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับค่าซื้อ SSF RMF ในปีภาษี 2565 บทความนี้จะสรุปให้ทำไมต้องแจ้งความประสงค์

จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ทั้ง 2 ฉบับ ได้ระบุให้ บลจ.แต่ละแห่งส่งข้อมูลค่าซื้อกองทุน SSF RMF ให้กรมสรรพากร เพื่อให้มีผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ โดยเริ่มตั้งแต่ค่าซื้อ SSF RMF ตั้งแต่ปีภาษี 2565 (ยื่นภายในเดือน มี.ค. 66) เป็นต้นไป

แต่เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่ระบุว่า หากบุคคลหรือนิติบุคคลใด ต้องการส่งข้อมูลของบุคคลที่สาม ให้กับบุคคลอื่น จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน จึงเป็นที่มา ว่า ถึงแม้ บลจ. จะมีข้อมูลของผู้มีเงินได้ในมือ แต่ไม่สามารถส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้โดยตรง หากยังไม่ได้รับความยินยอมจากผู้มีเงินได้ก่อน โดยนักลงทุนสามารถลงทะเบียนได้แล้วตั้งอต่วันนี้-31 ธ.ค. 2565

ต้องแจ้งภายในเมื่อไหร่ และแจ้งอย่างไร

แนะนำให้แจ้งภายใน 31 ธ.ค. 65 ตามกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. ในช่วงต้นปี 2566 โดยประกาศฯกำหนดให้ บลจ. เป็นผู้ส่งข้อมูลต่อกรมสรรพากร แนะนำให้แจ้งกับ บลจ.โดยตรง กับ บลจ.ที่จะใช้สิทธิลดหย่อน และเป็นการแจ้งยินยอมครั้งเดียว มีผลต่อการยินยอมในปีถัดๆไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปีภาษี 2565 ใช้สิทธิซื้อกองทุน SSF RMF กับ บลจ. 2 แห่ง คือ บลจ. A และ บลจ. B

ดังนั้น หากปีภาษี 2566 ซื้อกับ บลจ. A และ/หรือ บลจ. B ไม่ต้องแจ้งความยินยอมแล้ว แต่หากปีภาษี 2566 ซื้อกับ บลจ. C เพิ่มเติม ต้องแจ้งความยินยอมกับ บลจ. C ด้วย เพื่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนในปี 2566 ได้

หากแจ้งความประสงค์ย้อนหลัง สามารถทำได้ โดยจะเป็นการส่งข้อมูลนอกรอบให้กรมสรรพากร และจะใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่าปกติ ซึ่งอาจจะกระทบต่อระยะเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.ได้

ถ้าไม่แจ้งความประสงค์จะเกิดอะไรขึ้น


ถ้าไม่แจ้งความประสงค์ภายในกำหนด จะไม่สามารถนำค่าซื้อกองทุน SSF และ/หรือ RMF มาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะค่าซื้อกองทุน SSF และ/หรือ RMF ที่ใช้วิธีการยินยอมให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ยังมี ค่าเบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ (ของตนเอง/ซื้อให้บุพการี)*** ที่เริ่มทำในปีภาษี 2563 ต้องให้ความยินยอมกับบริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทประกันภัย เท่านั้น จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนได้ และดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย ที่ซื้อใหม่และทำสัญญา ตั้งแต่ปี 2564 ต้องให้ความยินยอมกับสถาบันการเงิน เช่นกัน จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนได้