จับตา ‘กรุงเทพประกันภัย’ เพิ่มทุนสินมั่นคง ชำระหนี้โควิด 3 หมื่นล้าน

กรุงเทพประกันภัย

จับตา ‘กรุงเทพประกันภัย’ ใส่เพิ่มทุน “สินมั่นคงประกันภัย” เดินหน้าชำระหนี้โควิด 3 หมื่นล้านบาท คาดเคาะรายชื่อพร้อมส่งแผนฟื้นฟูภายใน 20 พ.ค. 66 บริษัทเผยจ่ายเงินไม่เต็มทุนประกัน-ยืดผ่อนหนี้-มีแปลงหนี้เป็นทุน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายสุริยนต์ เจริญเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK เปิดเผยว่า จากปัญหาหนี้สินไหมประกันภัยโควิด จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุดมีนักลงทุนให้ความสนใจเพิ่มทุนอยู่ทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ นักลงทุนต่างชาติจำนวน 2 ราย และนักลงทุนไทยอีก 2 รายคือ 1.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท พรีฟอร์มม่า จำกัด ซึ่งนักลงทุนรายใหม่ทั้ง 4 ราย รอการเจรจากับบริษัทอยู่ ภายหลังที่มีความชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้สินไหมโควิด

โดยนักลงทุนต่างชาติได้ทำ Due Diligence หรือการตรวจสอบวิเคราะห์กิจการ เพื่อประเมินมูลค่าก่อนเข้าเพิ่มทุนไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่ง จึงอาจต้องเข้ามาสอบทานข้อมูลกับบริษัทเพิ่มเติมอีกครั้ง ส่วนนักลงทุนไทยอยู่ระหว่างการจะให้ข้อมูลผ่านทางที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทอีกครั้ง เพื่อให้กระบวนการจัดหานักลงทุนเป็นไปโดยอย่างมีระบบและโปร่งใส ในการเลือกนักลงทุนรายที่จะเสนอราคาทื่ดีที่สุดและมีเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้กับทางบริษัท

“เราอยากได้เงินเพิ่มทุนจำนวนมากที่สุด เพื่อส่งผลให้เราสามารถชำระหนี้ให้ให้กับเจ้าหนี้สินไหมโควิดได้จำนวนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเรื่องการตัดสินใจของนักลงทุนจากการประเมินมูลค่ากิจการเพื่อความคุ้มค่า และเราจะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการให้ได้มูลค่าให้มากที่สุด ฉะนั้น คงมีตัวเลขหนึ่ง ๆ ที่จะเจรจาและจบลงได้จากทั้งสองฝ่าย” นายสุริยนต์กล่าว

เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะบรรจุรายชื่อผู้เพิ่มทุนเข้าไปในแผนฟื้นฟูกิจการตามกรอบการส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 20 พ.ค. 66 แต่คงขึ้นอยู่นักลงทุนด้วยว่าจะเจรจาจบหรือไม่และได้ตัวเลขวงเงินที่เหมาะสมหรือไม่ ในการจ่ายคืนเจ้าหนี้

ในส่วนแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้สินไหมโควิด เช่น ทุนประกันภัย 1 แสนบาท จะปรับลดวงเงินการจ่ายไม่เต็มทุนประกัน เพราะตัวบริษัทคงไม่มีความสามารถจ่ายได้เต็มทุนประกัน ซึ่งจำนวนที่จะจ่ายได้นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างให้นักลงทุนเสนอราคาเพื่อนำเงินที่นักลงทุนจะใส่เข้ามาในบริษัทไปจ่ายชำระให้กับเจ้าหนี้ รวมถึงอาจจะขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ หรือส่วนหนึ่งจะมีการแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับสิทธิจากเงินปันผลเพิ่มเติม

นายสุริยนต์กล่าวต่อว่า สำหรับไทม์ไลน์แผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากศาลมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 และตั้งบริษัทสินมั่นคงประกันภัยเป็นผู้ทำแผน ถัดมาในวันที่ 20 ธ.ค. 65 จะมีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา และภายใน 1 เดือนหลังจากนั้นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้แล้วเสร็จก่อน 16.30 น. ของวันที่ 20 ม.ค. 66 (มีเวลาเกือบ 2 เดือน)

และภายใน 14 วันหลังจากนั้น สินมั่นคงประกันภัยและเจ้าหนี้สามารถตรวจสอบและมีสิทธิคัดค้านขอรับชำระหนี้ได้ กำหนดวันสุดท้ายคือวันที่ 3 ก.พ. 66 ถัดมาเป็นกำหนดการส่งแผนภายใน 3 เดือนนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นคือวันที่ 20 มี.ค. 66 ที่จะต้องยื่นเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้สามารถขยายระยะเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน จะไปสิ้นสุดในการส่งแผนวันที่ 20 พ.ค. 66

หลังจากส่งแผนไปแล้วทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 66 และหลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำรายงานเสนอต่อศาลในผลการลงมติ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. 66


อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้มีโอกาสขยายออกไปได้ เช่น อาจจะมีเจ้าหนี้บางส่วนคัดค้านแผนก็เป็นไปได้ เพราะศาลจะต้องไต่สวนเพื่อให้เกิดความกระจ่างก่อนมีคำตัดสิน หากเห็นชอบด้วยแผนแล้วก็จะเป็นบทบาทของผู้บริหารแผนที่ต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนดไว้ประมาณเดือน ก.ย. 66 เป็นต้นไป