กสิกรไทยมองปี’66 เงินบาทพลิกแข็งค่าแตะ 33.50 บาท

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย

ธนาคารกสิกรไทย ปรับกรอบเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 37.50 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ และปี’66 อยู่ที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังเฟดปรับนโยบายการเงิน-นักท่องเที่ยวแห่เข้าไทย หนุนดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกบวก 3.5 พันล้านดอลลาร์ มอง กนง.ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย คาดประชุมนัดสุดท้ายขึ้น 0.25% และไปจบที่ระดับ 1.75% กลางปี’66

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับกรอบเป้าหมายค่าเงินบาทในปี 2565 จากเดิมมองอ่อนค่าอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ และในปี 2566 กรอบอยู่ที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะเริ่มเห็นเงินบาทกลับมามีทิศทางแข็งค่าขึ้น แต่การแข็งค่าจะไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดด ซึ่งการแข็งค่าจะเริ่มเห็นชัดเจนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566

โดยปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท จะพบว่าการเคลื่อนไหวจะตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลักสูงถึง 95-96% ซึ่งที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าเงินดอลลาร์เพิ่ม 1 จุด เช่น จาก 106 เป็น 107 จะเห็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 32 สตางค์ แต่หลังจากนี้จะต้องกลับมาดูปัจจัยภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ มองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะไม่เร็วและรุนแรง คาดว่าจะปรับจาก 0.75% มาเป็น 0.50% หลังขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3.75% และจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 5% และค้างไว้ หรือทยอยปรับลดลงในปี 2566 หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกผ่านจุดสูงสูดไปแล้วอยู่ที่ระดับ 7.5% ทำให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ลดลงได้ และเห็นโอกาสดอกเบี้ยรีเทิร์นกลับ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดจะยังยืนยันว่าไม่เห็นการปรับลดลงของดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นความกังวลเรื่องการเก็งกำไร และทำให้นโยบายการเงินดื้อยา เพราะจากข้อมูลการทำนโยบายการเงินของเฟด 14 ครั้ง พบว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) 12 ครั้ง และนักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองว่า โอกาสที่เศรษฐกิจเข่าสู่ Recession ภายใน 1 ปี สหรัฐมีโอกาสถึง 63% จากเดิม 50% ยูโรโซน 80% อังกฤษและรัสเซีย 90% ส่วนไทยจาก 10% เพิ่มเป็น 15%

“เราเริ่มเห็นเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สะท้อนว่าโจทย์ที่เฟดทำประสบความสำเร็จ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะช้าลง และในปี’66 จะทยอยปรับลดลง ส่วนของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายอีก 0.25% และปี’66 ขึ้นอีก 2 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.75% ต่อปี

ส่วนหนึ่งมองว่า กนง.คงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเยอะแบบเฟด เพราะเศรษฐกิจไทยแม้ว่าในไตรมาส 2 จะยังเติบโตได้ที่ 4.5% แต่ยังไม่พร้อมที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระดับสูง เนื่องจากยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างและยังโตต่ำกว่าศักยภาพอยู่พอสมควรที่ 4.7% จึงไม่เหมาะสมที่จะขึ้นดอกเบี้ยแบบดุเดือด”

สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามและมีผลต่อเงินบาทแข็งค่านั้น จะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้จาก 9.75 ล้านคน เพิ่มเป็น 13-20 ล้านคน จะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคนที่อยู่ภาคบริการจะได้รับอานิสงส์ และหากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจากติดลบหรือขาดดุลสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2566 ซึ่งจะช่วยหนุนค่าเงินบาทแข็งค่าได้

โดยธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย หรือติดลบอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์ จากปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลใกล้เคียงกับในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

“ปี’66 แม้ว่าเฟดจะยังคงทำมาตรการปรับลดขนาดงบดุลผ่านการดึงสภาพคล่องกลับ หรือ QT และจะเห็นปัญหา Recession เป็นปัญหาใหม่ และเงินเฟ้อเป็นปัญหาเก่า ทำให้ค่าเงินดอลลาร์จะมีความผันผวน และบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่า แต่คงไม่ได้แข็งค่าแบบในปี 2561-2562 ที่จะเห็นถึง 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราจะในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้เงินจะแกว่งตัวผันผวน และช่วงต้นปี-กลางปี เริ่มเห็นดอลลาร์ขาลง เพราะเกิด Recession และการปรับนโยบายการเงินเฟด จึงมีความผันผวนต่อไป”