แบงก์ชาติ หั่นจีดีพีปี65-66 จับตา 2 ความเสี่ยง คาดเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ Q3/66 

เงินเฟ้อ

ธปท.มองเศรษฐกิจไทยปีนี้กลับเข้าสู่ระดับโควิด-19 ยันแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อานิสงส์ท่องเที่ยว-การบริโภค ย้ำนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมาะสม จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง “ต้นทุนในประเทศ-เศรษฐกิจโลกชะลอ” กดดันจีดีพีปี 65-66 เชื่อแบงก์พาณิชย์เด้งรับดอกเบี้ยนโนบายส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ผู้กู้ พร้อมมองเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบไตรมาส 3/66 

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและกระจายทั่วถึงเพิ่มขึ้น จากภาคการบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าปลายปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวไปเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า 

โดยธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ 3.2% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% และในปี 2566 อยู่ที่ 3.7% จาก 3.8% และในปี 2567 อยู่ที่ 3.9% โดยสาเหตุที่ปรับลดประมาณการเป็นผลมาจากอุปสงค์จากต่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนเป็นสำคัญ 

ทั้งนี้ หากดูปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าที่ประเมินไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยกว่า 51% เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19  และมองในแง่องค์ประกอบจำนวนนักท่องเที่ยวมาจากภูมิภาคเอเชียจำนวนมาก จึงคาดการณ์ระยะข้างหน้าในปี 2566-2567 การเข้ามาของนักท่องเที่ยวเอเชียจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรโซน จึงไม่กระทบเศรษฐกิจไทยมากนัก 

และจากแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ธปท.ได้มีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จาก 9.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 10.5 ล้านคน และในปี 2566 ปรับจาก 21 ล้านคน เพิ่มเป็น 22 ล้านคน และในปี 2567 อยู่ที่ 31.5 ล้านคน 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลมาจากซัพพลายช็อก ทั้งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ได้มีการปรับลดลง ทำให้เงินเฟ้อปรับลงสอดคล้องกัน โดยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.3% และในปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.6% เป็น 3.0% ส่วนหนึ่งมาจากการปรับค่าไฟฟ้า และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้มีการส่งผ่านมายังผู้บริโภคมากขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังเพิ่มจาก 7.3% เป็น 9.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ที่ 2.6% และปีหน้าปรับจาก 2.4% เป็น 2.5% 

อย่างไรก็ดี หากดูการกระจายตัวของราคาในตระกร้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และเงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่ได้ปรับแบบมีนัยสำคัญยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ จึงคาดว่าเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ได้ 

ดังนั้น จากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันผ่านการปรับดอกเบี้ยนโยบาย (RP) แบบค่อยเป็นค่อยไปยังเหมาะสม อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้ายังคงมีประเด็นติดตาม 2 ประเด็นหลัก คือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงในประเทศทางด้านนโยบายการดูแลด้านพลังงานและต้นทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปยังคงเหมาะสม แต่หากมีปัจจัยเข้ามากระทบธปท.ก็พร้อมจะปรับนโยบายทั้งขนาดและเงื่อนเวลา

“ไตรมาสที่ 4 คาดว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวกระจายตัวมากขึ้น และเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากเศรษฐกิจฟื้นตัวเราจึงทยอยถอนมาตรการ เช่น การลดเงินนำส่ง FIDF และมาตรการ LTV รวมถึงมาตรการสินเชื่อชอฟต์โลนที่ทยอยครบกำหนด อย่างไรก็ดี เราก็มีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาอยู่ แต่เชื่อว่ามาตรการที่มีอยู่จะช่วยสนับสนุนและประคองกลุ่มนี้”

นายปิติ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มองว่า ธนาคารพาณิชย์ได้มีการส่งผ่านไปยังดอกเบี้ย M Rate แล้ว โดยปกติจะมีการส่งผ่านประมาณ 60% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการส่งผ่านมาไปยังผู้กู้จะแตกต่างกันในกลุ่มลูกค้า เช่น ลูกค้าดอกเบี้ยรายย่อยที่จะรับต้นทุนสูงกว่า ในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากพึ่งพาตลาดธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างธุรกิจรายใหญ่ที่สามารถระดมทุนในตลาดหุ้นได้ 

“เราได้มีการพิจารณาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่อาจจะกระทบกลุ่มเปราะบางได้ เพราะหากเราขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากแรงเกินไป ทำให้การส่งผ่านจะต้องแบบเป็นค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งผู้กู้เองก็ต้องชั่งน้ำหนักในการเตรียมความพร้อมในการกู้เงินว่ากู้ดีหรือไม่”