ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือน ต.ค. ฟื้นตัวชะลอจากแรงกดดันส่งออกหดตัว -6.1%

ธปท.

ธปท. เผยเศรษฐกิจเดือนตุลาคมฟื้นตัว แต่ได้รับแรงกดดันภาคการส่งออกหดตัว -6.1% จากอุปสงค์ต่างประเทศ-โรงกลั่นปิดตัว ด้านการท่องเที่ยวโตต่อเนื่องยอดล่าสุดแตะ 7.1 ล้านคน หนุนการภาคบริการ-บริโภคทรงตัว ฟากตลาดแรงงานกลับมาเทียบช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 11.6 ล้านคน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2565 ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ชะลอตัวจากแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

โดยตัวเลขการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนตุลาคมขยายตัวติดลบ -6.1% จากเดือนก่อน สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ปรับลดลงเหลือ 4.2% จากเดือนก่อนจากหมวดปิโตเคมี และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟตามดีมานด์ของต่างประเทศ

ขณะที่ปัจจัยหนุน คือ ภาคการท่องเที่ยวโดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มอยู่ที่ 7.1 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงส่งให้ภาคการผลิตบริการปรับดีขึ้น 2.2% อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว -0.6% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากยอดขายลดลง เนื่องจากเร่งไปก่อนหน้า รวมถึงปัจจัยค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยจำนวนแรงงานในมาตรา 33 อยู่ที่ 11.6 ล้านคน หรือเติบโต 0.7% สอดคล้องกับตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานปรับลดลง เช่นเดียวกับกำลังแรงงานนอกภาคเกษตรปรับลดลง ซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภค

ทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐ หดตัว -1.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายจ่ายรัฐบาลกลางและรายจ่ายประจำ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลฐานที่สูง และรัฐวิสหกิจที่มีการลงทุนทางด้านพลังงานและสาธารณูปโภค

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ปรับลดลงตามคาดการณ์และได้ผ่านจุดสูงสุดอยู่ที่ 6.41% มาอยู่ที่ 5.9% ซึ่งมาจากหมวดพลังงานและอาหารสด โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.12% มาอยู่ที่ 3.17% ผลจากอาหารสำเร็จรูป

ทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลงจากการลดลงของรายจ่ายค่าระวางสินค้า ประกอบกับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 
ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์

“เศรษฐกิจเดือนตุลาคมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่การเติบโตลดลงจากแรงกดดันมาจากอุปสงค์ของโลก และปัจจัยชั่คราว และมองไปข้างหน้าเดือนพฤศจิกายนคาดว่าแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว แต่ต้องติดตามอุปสงค์ต่างประเทศ ค่าครองชีพ และความต่อเนื่องกิจกรรมของเศรษฐกิจ”