เวิลด์แบงก์ หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือขยายตัว 3.6%

เวิลด์แบงก์ หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือขยายตัว 3.6%
(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

เวิลด์แบงก์ หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’66 เหลือขยายตัว 3.6% ผลจากการชะลอตัวอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก “จีน-ยูโรโซน-สหรัฐ” จากผลกระทบการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (World Bank) กล่าวว่า ในปี 2565 เวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 2.9% เป็น 3.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างดีขึ้นจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ

แต่ตรงข้ามกับปี 2566 ที่เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอย่างต่อเนื่อง จากขยายตัว 4.3% เป็น 4.1% และลดลงเหลือ 3.6% ซึ่งเมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดในปี 2565 และปี 2566 ถือว่าเป็นการเร่งตัวขึ้นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

หลัก ๆ เป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยประเทศไทยประสบปัญหาการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว 2.1% ในปี 2566 ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% ในปี 2565 โดยการปรับลดนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน, ยูโรโซน และสหรัฐ

“ถ้าดูความสัมพันธ์ระหว่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับเศรษฐกิจไทยจะเห็นว่าถ้าเกิดมีการชะลอตัวลง 1% ของกลุ่มประเทศ G7 เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงประมาณ 0.4-0.6% ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่มากพอสมควร จึงเป็นสาเหตุทึ่เราปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาในปีหน้า” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ส่วนเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะกลับมาเป็นบวกได้หลังขาดดุลในระดับสูงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของรายได้ภาคท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเวิลด์แบงก์มองว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาสู่ระดับเดิม 100% ได้ในปี 2567 ซึ่งอาจจะช่วยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินบาทแข็งขึ้น

ด้านหนี้สาธารณะของไทยในประมาณการของเวิลด์แบงก์คาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่ 60.7% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2565 ตอนนี้จะเริ่มลดลงเนื่องจากว่ารายจ่ายที่เกี่ยวกับโควิดได้จ่ายไปเกือบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม โดยที่มีมาตรการบรรเทาวิกฤตค่าครองชีพจะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้การปรับตัวกลับเข้าสู่ความสมดุลของอัตราการผ่อนคลายจะช้าลง ซึ่งเป็นความท้าทายในระยะกลางของนโยบายการคลัง

ส่วนแรงกดดันด้านราคาคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงก่อนจะชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์มีข้อเสนอเชิงนโยบายการคลัง คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านสังคมโดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ 2.ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการให้บริการสาธารณะสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และ 3.เพิ่มรายได้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบก้าวหน้า

ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีควรคำนึงถึงการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และควรมาพร้อมกับมาตรการเฉพาะที่ช่วยปกป้องรายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวด้วย

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ