บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนวันหยุดปีใหม่

ค่าเงินบาท

บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนวันหยุดปีใหม่ ขณะที่ FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 2566 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/12) ที่ระดับ 34.70/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/12) ที่ระดับ 34.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวกรอบแคบในทางอ่อนค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.10% ลงมาอยู่ที่ระดับ 104.35 หลังนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกของเฟดในปี 2566

โดย FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม 2566 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 27% โดยหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันพุธ (28/12) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +1 ในเดือนธันวาคม สวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ -10 จากระดับ -9 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในเขตริชมอนด์ โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

นอกจากนี้สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยลดลง 4.0% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีดังกล่าวจะปรับตัวลดลงเพียง 0.8%

โดยการทำสัญญาขายบ้านได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งสูง และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง โดยดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อขายบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนสำหรับการเซ็นสัญญาจนกระทั่งปิดการขาย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 34.57-34.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (29/12) ที่ระดับ 1.0624/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/12) ที่ระดับ 1.0535/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.89% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นแตะที่ระดับ 3.98%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0607-1.0639 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0638/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/12) ที่ระดับ 134.06/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/12) ที่ระดับ 133.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง หลังมีการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

โดย BOJ เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนธันวาคม ระบุว่า แม้ BOJ ได้สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธมิตรรัฐบาลในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม แต่ BOJ ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่อไป ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.45-134.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/12), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIAX Z29/12), ราคาบ้านเดือนธันวาคมจากเนชั่นไวด์ของประเทศอังกฤษ (30/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -19/-16 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ