
ธนาคารไทยพาณิชย์ นำร่องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ชี้เป็นไปตามแนวทางการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF กลับสู่ระดับปกติ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ยกแผงทั้ง MLR-MOR-MRR อัตรา 0.40% มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่อัตรา 0.46% ต่อปี จากที่เคยปรับลดลงเหลืออัตรา 0.23% ต่อปี เป็นกรณีพิเศษในช่วงปี 2563-2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีแนวทางให้สถาบันการเงินกลับมาส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไปนั้น
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ตรวจหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 1 มิ.ย. 66 (อัพเดต)
- “เหล้า-เบียร์” เจ๊กอั้ก ! ร่างกฎหมายใหม่ คุมเข้ม-สุดโหด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม MLR MOR และ MRR ในอัตรา 0.40% ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราที่ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลงตั้งแต่เริ่มมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF นี้เมื่อเดือนเมษายน 2563
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.12% เป็น 6.52% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.75% เป็น 6.15% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.345% เป็น 6.745% ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ ดังนั้น ธนาคารจึงยังคงมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังเปราะบาง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถติดต่อธนาคารได้ในช่องทางที่ลูกค้าติดต่ออยู่ หรือ สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า SCB Call Center 0-2777-7777