หุ้นกู้อสังหา 1 แสนล้านครบดีล จับตากลุ่มไฮยีลด์-เสี่ยงซ้ำรอย ALL

อสังหา

จับตาหุ้นกู้อสังหาฯ ครบดีลปีนี้ 1.3 แสนล้านบาท เป็นกลุ่ม “ไฮยีลด์” เครดิตเรตติ้งต่ำกว่าระดับลงทุนได้ หรือ “เสี่ยงสูง” 3.8 หมื่นล้านบาท ออกโดย 24 บริษัท สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยชี้ผู้ออกรายเล็กมีความเสี่ยงผิดนัดชำระ ขณะกรณี “ALL” ผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยคาดเป็นปัญหาเฉพาะราย ฟาก “กรุงไทย” เชื่อไม่ลามกระทบวงกว้าง เตือนไม่ประมาทรับมือภาวะ “ระบบชะงักงัน” แนะผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนจากเรตติ้งมากกว่าดอกเบี้ยสูงล่อใจ

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมามีหุ้นกู้ที่มีปัญหา (เข้ากระบวนการฟื้นฟู, ยืดอายุหุ้นกู้, ผิดนัดชำระหนี้) รวมทั้งสิ้น 89,222 ล้านบาท (รวมหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย 71,608 ล้านบาท) ที่เหลืออีก 14,273 ล้านบาท

เป็นการขอยืดอายุ รวมทั้งหมด 16 บริษัท ซึ่งจะเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และโรงแรม ไม่ได้ขยายไปเซ็กเตอร์อื่น

สำหรับกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ที่ล่าสุดผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ วงเงิน 10.65 ล้านบาท เบื้องต้นคิดว่าคงเป็นปัญหาเฉพาะรายบริษัทเท่านั้น จากการขาดสภาพคล่อง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ

“กรณี ALL น่าจะแค่สะดุด หรือมีปัญหาในเชิงธุรกิจ ไม่ได้มีปัญหาการออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อต่ออายุหุ้นกู้เดิม (rollover) เพราะปีที่แล้ว ALL ยังโรลโอเวอร์ได้ตามปกติ ดังนั้นจึงไม่น่าจะกระทบต่อทั้งเซ็กเตอร์อสังหาฯ ทั้งนี้ ALL มียอดคงค้างหุ้นกู้ครบกำหนดชำระจนถึงปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 2,300 ล้านบาท เฉพาะในปี 2566 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 1,600 ล้านบาท”

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของ ALL ที่ครบกำหนดในปี 2566 นี้ แบ่งเป็น 4 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้มีประกัน 2 รุ่น และหุ้นกู้ไม่มีประกันอีก 2 รุ่น โดยกระบวนการหลังจากนี้ต้องรอผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา) สรุปมติจากนักลงทุน ว่าจะเรียกกำหนดให้ชำระหนี้โดยพลันเลยหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น ALL จะต้องหาเงินมาชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยทันที ซึ่งหุ้นกู้รุ่นที่มีปัญหาจริง ๆ จะครบกำหนดชำระในปี 2567 รวมมูลค่า 709.90 ล้านบาท

“ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็กที่มีวงเงินออกหุ้นกู้หลักร้อยล้านบาท เนื่องจากภาคอสังหาฯ และท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์หลัก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

แม้ตอนนี้จะเริ่มเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวกลับมาช่วยเพิ่มกำลังซื้อ แต่การฟื้นตัวของภาคอสังหาฯจะใช้เวลาค่อนข้างนานหลายปีกว่าจะกลับมา โดยบริษัทที่มีผลประกอบการแย่ หรือธุรกิจไปได้ไม่ดี มาถึงจุดนี้ก็คงจะเหนื่อยมาก”

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ในภาพรวมจะมีหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดราว 1.3 แสนล้านบาท จากผู้ออกจำนวน 53 บริษัท โดยบริษัทที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.แสนสิริ 12,840 ล้านบาท, บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น 11,508 ล้านบาท, บริษัท ศุภาลัย 10,600 ล้านบาท, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 8,400 ล้านบาท, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย 7,000 ล้านบาท

ตาราง หุ้นกู้

โดยในจำนวนหุ้นกู้อสังหาฯที่ครบดีล 1.3 แสนล้านบาทนั้น จำแนกได้เป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน (Investment Grade) ราว 9.1 หมื่นล้านบาท ออกโดย 29 บริษัท ส่วนอีก 3.8 หมื่นล้านบาท จัดเป็นหุ้นกู้เสี่ยงสูง (High Yield) ที่ออกโดย 24 บริษัท

“อย่างไรก็ดี บรรยากาศเศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้น ฉะนั้น โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้โดยภาพรวมคงน้อยลง แต่อาจจะมีเป็นรายบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ดังนั้นการลงทุนหุ้นกู้ก็ยังน่าลงทุน แต่ต้องพิจารณาลงทุนเป็นรายบริษัท” นางสาวศิรินารถกล่าว

นายสงวน จุงสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ถ้าพิจารณาข้อมูลหุ้นกู้ที่มีการปรับโครงสร้าง หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระ หรือผิดนัดชำระหนี้ในปี 2565

พบว่าเป็นหุ้นกู้มีปัญหาจำนวน 24 บริษัท มียอดคงค้างรวม 100,130 ล้านบาท คิดเป็น 2.32% จากยอดคงค้างหุ้นกู้ทั้งระบบ 4.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมหุ้นกู้การบินไทยเข้าไปด้วย หากไม่นับรวมการบินไทยจะมียอดหุ้นกู้มีปัญหา 28,522 ล้านบาท จาก 23 บริษัท

“รวม ๆ แล้วมียอดคงค้างหุ้นกู้มีปัญหาเฉลี่ยต่อบริษัทแค่ 1,240 ล้านบาท สะท้อนว่าหุ้นกู้ที่ผิดนัดเกิดกับบริษัทที่มีขนาดเล็กเป็นหลัก จึงไม่น่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเมื่อปีที่แล้วผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยพูดว่า

กังวลเรื่อง market dysfunction หรือตลาดชะงักงัน คือหากผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ผิดนัดชำระจะทำให้ระบบชะงักงันได้ ทุกคนจะถือแต่เงินสด และอาจลุกลามไปสู่ผู้ออกหุ้นกู้รายอื่น ๆ ซึ่งแม้ว่าตอนนี้อาจยังไม่มีสัญญาณจะลุกลาม แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยที่ผ่านมาผู้ออกที่ผิดนัดชำระเป็นรายเล็ก แต่ถ้าเกิดเป็นรายกลาง นักลงทุนจะมีความตระหนกได้” นายสงวนกล่าว

นายสงวนกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนหุ้นกู้ในระบบมีบุคคลธรรมดามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้านักลงทุนกลุ่มนี้เกิดความตระหนก ระบบก็อาจชะงัก จากการหันมาถือเงินสด ซึ่งจะกระทบไปถึงหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนที่จะออกใหม่เพื่อโรลโอเวอร์ แต่ทั้งนี้จนถึงปัจจุบัน ยังมองเป็นความเสี่ยงเฉพาะราย ไม่น่าจะลุกลาม

อย่างไรก็ดี ผู้ออกหุ้นกู้ จะต้องสื่อสารกับตลาดทุน ต้องมีความระมัดระวังและรอบคอบ เช่น จะต้องมีการเตรียมแผนระดมทุนล่วงหน้า เผื่อช่องทางให้หลากหลายไว้ ไม่ใช่แค่หุ้นกู้ เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีเกิดปัญหาขึ้น

“สำหรับผู้ลงทุน ปกติกลุ่มสถาบันจะลงทุนหุ้นกู้เรตติ้งตั้งแต่ A- ขึ้นไป ซึ่งค่อนข้างจะปลอดภัยอยู่แล้ว แต่กลุ่มรายย่อยจะนิยมลงทุนตั้งแต่ BBB+ ลงมารวมถึงน็อนเรต ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาแบบนี้ นักลงทุนรายย่อยจะเจอผลกระทบเป็นหลัก ฉะนั้นเวลาลงทุนควรจะเลือกอันดับความน่าเชื่อถือก่อน อย่าพิจารณาแค่ดอกเบี้ย 7-8% เพราะเวลาเงินต้นหายไม่คุ้ม” นายสงวนกล่าว