
ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” เป็น “A+” จาก “A” พร้อมขยับเครดิตเรตติ้งหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน เป็น “A” จาก “A-” แนวโน้ม “Stable” หลังบริษัทมีกระแสเงินสดจากการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า IPP-แรงกดดันหนี้ลดลง-รับปันผลจาก INTUCH 6 พันล้าน
วันที่ 15 มกราคม 2566 ทริสเรทติ้ง เปิดเผยว่า ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มาอยู่ที่ระดับ “A+” จากระดับ “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ “A” จากระดับ “A-” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกระแสเงินสดของบริษัทจากการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer – IPP) ของบริษัท โดยกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันจากภาระหนี้
ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัท
ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับอันดับเครดิต “AAA/Stable”)
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความเสี่ยง อันเนื่องมาจากการลงทุนในต่างประเทศและการขยายธุรกิจที่รวดเร็วของบริษัท
โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งของบริษัทที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันประมาณ 3,700 เมกะวัตต์นั้น จะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ณ ปัจจุบันกำลังการผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟแล้วและมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำลังการผลิตส่วนที่เหลือจะสามารถเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567 ได้ตามกำหนดการ
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้าจาก 4,966 เมกะวัตต์ ณ เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวน่าจะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยอัตราส่วน EBITDA Margin (EBITDA ต่อรายได้) ของบริษัทน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงประมาณการ
ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 10% ของรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งช่วยให้บริษัทได้รับผลกระทบในเชิงลบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระดับที่จำกัด
คาดรับปันผล “INTUCH” 6 พันล้าน
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจำนวน 4-6 พันล้านบาทต่อปีจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยได้รับเงินปันผลพิเศษประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเงินปันผลจำนวนมากดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสเงินสดของบริษัท
แรงกดดันจากภาระหนี้ส่อลดลง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว โดยแม้บริษัทจะยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วแต่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเกือบ 10 เท่าในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะควบคุมระดับการก่อหนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีลงเหลือ 25% จาก 50% ซึ่งเงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้นจำนวน 305 ล้านยูโรหรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทนั้น ก็ช่วยให้บริษัทบริหารจัดการภาระหนี้สินได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บริษัทขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว และยังทำให้บริษัทไม่ต้องนับรวมหนี้ของโรงไฟฟ้าดังกล่าวจำนวน 541 ล้านยูโรหรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเข้ามาในงบการเงินอีกด้วย
ทั้งนี้ เงินลงทุนต่าง ๆ จำนวนมากของบริษัทช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากบริษัทสามารถขายเงินลงทุนบางส่วนเพื่อลดภาระหนี้ในกรณีที่จำเป็นโครงสร้างหนี้
ณ เดือนกันยายน 2565 หนี้สินรวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.63 แสนล้านบาทซึ่งจำนวน 1.59 แสนล้านบาทนั้นเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 60% และส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
ผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้า
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้ารวมกันที่ขนาด 8,622 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวน 4,966 เมกะวัตต์นั้นมาจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว ในขณะที่ตามกำหนดการแล้วนั้นโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจะแล้วเสร็จภายในปี 2570
กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตและโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา
โดยบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้านั้นอยู่ในสถานะที่จะได้ประโยชน์จากเป้าหมายของภาครัฐที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Greenhouse Gas Emission) โดยมีโควตาในการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสในการซื้อกิจการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมการซื้อโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในประมาณการในครั้งนี้
ขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน-ดิจิทัล
บริษัทขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership — PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน
ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปีหลังจากงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2567
นอกจากโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แล้ว บริษัทยังกำลังพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งมีกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) เป็นผู้ดำเนินการอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท รวมทั้ง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Co., Ltd. (CHEC) มีหน้าที่ในการออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการในส่วนของท่าเรือ F1 และ F2
โครงการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงในด้านการตลาดเนื่องจากผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในการขนส่งสินค้า ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์จำนวน 2 สาย (สาย M6 และ M81) โดยมีกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาทเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ (ระยะที่ 1) รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (ระยะที่ 2)
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า BGSR จะไม่มีความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ของปริมาณการจราจรเนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนแบบคงที่หลังจากโครงการเปิดดำเนินงานในปี 2567 และบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว
รับปันผลพิเศษจาก “INTUCH “
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การซื้อหุ้นในสัดส่วน 46.57% ใน INTUCH ยังเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล โดยการซื้อหุ้นใน INTUCH นั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้จากเงินปันผลแต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM) อีกด้วย
ซึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนการขายไฟฟ้าในตลาดกลางหากภาครัฐมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงในอนาคต เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างการถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นในสัดส่วน 41.1% ใน THCOM จาก INTUCH ที่มูลค่า 4.5 พันล้านบาท
ในการนี้ บริษัทจะได้รับเงินปันผลพิเศษจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาทจาก INTUCH ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสุทธิลดลงเป็น 2.4 พันล้านบาท บริษัทได้รวมผลการดำเนินงานของ THCOM เข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดของ THCOM โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดขายหุ้น THCOM ให้แก่บริษัทเมื่อพิจารณาจากราคาเสนอซื้อที่ค่อนข้างต่ำ
ผนึก “SINGTEL-BINANCE”
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับ Singapore Telecommunications Ltd. (SINGTEL) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกลุ่ม Binance (BINANCE) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ความร่วมมือกันดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมความเป็นไปได้ทางธุรกิจดังกล่าวไว้ในประมาณการในครั้งนี้
สภาพคล่องยังบริหารจัดการได้
ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกันจำนวนประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมกันที่จำนวน 2.46 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม
บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่าตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 1.9 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
-รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568
-อัตราส่วน EBITDA Margin จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงปี 2566-2568
-เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปี