จำนำทะเบียนรถ ส่อเค้าเดือด ลีสซิ่งหนีคุมดอกเบี้ยแห่ชิงตลาดปั้นมาร์จิ้น

จำนำทะเบียนรถ

ธุรกิจจำนำทะเบียนรถปีกระต่ายส่อเค้าแข่งเดือด คาด “รายเก่า-รายใหม่” โหมชิงตลาด “เคทีซี” ชี้เป็นตลาดที่มาร์จิ้นสูง จูงใจผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะแบงก์เข้ามาชิงเค้กพรึ่บ ประกอบกับธุรกิจลีสซิ่งถูกคุมเพดานดอกเบี้ย-ดิ้นหาทางปั้นยีลด์เพิ่ม “ทิสโก้” ลุยเจาะฐานลูกค้าต่างจังหวัด เร่งขยายสาขาโต 4 เท่า ฟาก “SAK” ชี้ความต้องการสินเชื่อสูง-ต้องควบคุมคุณภาพหนี้

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจจำนำทะเบียนรถในปี 2566 จะเห็นการแข่งขันรุนแรงขึ้น เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี จึงดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นที่เป็นธนาคาร ซึ่งจากเดิมไม่ได้ลงมาเล่นในตลาดนี้ก็เข้ามาเพิ่มขึ้น สะท้อนจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนแบ่งตลาดของธนาคารมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

“ตลาดจำนำทะเบียนรถปีนี้ ประเมินว่ายังคงมีความต้องการสินเชื่อสูง โดยจะเห็นผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่โตได้ 30% ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การควบคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำให้เห็นผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลาดนี้เพิ่มขึ้นอีก”

 

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี
เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี

สำหรับในส่วนของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในปี 2566 ยังคงเน้นขยายพอร์ตการเติบโตในกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีเอกสารทางการเงิน แต่พิจารณาจากข้อมูลอื่น เช่น ทะเบียนการค้า รวมถึงมนุษย์เงินเดือน มีการปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท และอนุมัติภายใน 45 นาที จากเดิม 1 ชั่วโมง รวมถึงขยายเวลาผ่อนชำระนานถึง 84 เดือน จากเดิมสูงสุด 60 เดือน ภายใต้ดอกเบี้ยเฉลี่ย 21% ต่อปี ซึ่งตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 9,100 ล้านบาท คาดว่ายอดคงค้างสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท

“พอร์ตเราประมาณ 90% เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และอีก 10% เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ (แบบโอนเล่มทะเบียน) ซึ่งส่วนนี้จะทยอยลดลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการคุมเพดานดอกเบี้ยของ สคบ. ทำให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหายไปเฉลี่ย 6-9% ไม่คุ้มกับต้นทุนการบริหารจัดการ จึงชะลอการปล่อยสินเชื่อ และไปเน้นที่พอร์ต “เคทีซี พีเบิ้ม รถแลกเงิน” ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 6,000-7,000 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะเป็นส่วนที่มีการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มสินเชื่อของทิสโก้ โดยจะดำเนินการผ่านบริษัท ไฮเวย์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” จากทิศทางภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนรถยังคงมีการเติบโต ซึ่งลูกค้ารายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง สะท้อนจากอัตราการเติบโตในปี 2565 ของ “สมหวัง เงินสั่งได้” ขยายตัวอยู่ที่ 26% และของธนาคารทิสโก้ 14%

“ปีนี้เราจะมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าต่างจังหวัด ผ่านการเปิดสาขามากขึ้น โดยในอดีตจะมีการเปิดสาขาเฉลี่ยราว 50 แห่งต่อปี แต่ในปี 2565 เปิดเพิ่มเป็น 100 แห่ง ชดเชยในช่วงโควิด-19 ที่ชะลอการเปิดสาขา แต่หลังจากมีแผนการเติบโตเชิงรุกในส่วนของจำนำทะเบียน จึงตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มขึ้น 4 เท่า หรือราว 200 แห่งต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่ประมาณ 450 แห่ง จะเพิ่มเป็น 1,000 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่”

นายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า การขยายการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน จะส่งผลให้สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง (high yield) น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 24% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากในช่วง 4-5 ปีก่อนที่อยู่ประมาณ 20% อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนพอร์ตไฮยีลด์ จะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นด้วย แต่คาดว่าจะไม่เกิน 3%

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์
ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK กล่าวว่า สินเชื่อทะเบียนรถในปีนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก จากสัญญาณความต้องการสินเชื่อที่ผู้ประกอบการรายเล็กต้องการเงินทุน เพื่อการขยายธุรกิจ โดยปกติตลาดจำนำทะเบียนรถจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ในปีนี้การแข่งขันยังคงรุนแรง โดยผู้เล่นรายเดิมจะพยายามขยายพอร์ตสินเชื่อ ส่วนผู้เล่นรายใหม่ก็คงพยายามเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น โดยใช้แคมเปญลดดอกเบี้ยในการจูงใจและขยายฐานลูกค้า แต่ในช่วงต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้น มาร์จิ้นตลาดจำนำทะเบียนรถปรับแคบลง และเอ็นพีแอล
มีทิศทางเพิ่มขึ้น

“แม้ความต้องการสินเชื่อสูง แต่เราก็ต้องควบคุมคุณภาพสินเชื่อผ่านการคัดกรองลูกค้า ทำให้เอ็นพีแอลไม่น่าจะเกิน 2.5% และตั้งเป้าปล่อย
สินเชื่อใหม่ไว้ราว 2,500 ล้านบาท หรือเติบโต 20-25% ยอดคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นเกษตรกร และอยู่ในต่างจังหวัด”