ลีสซิ่งรายเล็กระส่ำ ส่อทิ้งธุรกิจ อ่วมต้นทุนพุ่ง-คุมดอกเบี้ย รายใหญ่จ้องฮุบ

สินเชื่อ รถมอเตอร์ไซต์ ทางแยก
Photo by Joshua Rawson-Harris on Unsplash

ธุรกิจเช่าซื้อระส่ำ รายใหญ่เล็งฮุบรายเล็ก คาดหลายรายไปไม่รอดส่อถอดใจเลิกกิจการ หลังเผชิญต้นทุนการเงินพุ่ง-ถูกคุมเพดานดอกเบี้ย-ผลตอบแทนไม่จูงใจ จับตาอีก 3 เดือนเห็นภาพชัด “ลีสซิ่งกสิกรไทย” ประเมินกลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อ่วมสุด ฟาก “ที ลีสซิ่ง-ทิสโก้” รับสนใจ “ร่วมทุน-ซื้อกิจการ” ล่าสุด “เงินติดล้อ” เข้าถือหุ้น “สมใจ 2559” ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถมอ’ไซค์ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ จ.ร้อยเอ็ด

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มต้นทุนการเงิน (cost of fund) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงประกาศการควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่บังคับใช้ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อ ทำให้การบริหารจัดการระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงด้อยลง เนื่องจากความเสี่ยงไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่อัตราผลตอบแทนถูกจำกัด

“มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ตัดสินใจขายพอร์ตธุรกิจ หรือออกจากธุรกิจเช่าซื้อไป โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ย 23% ต่อปี กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทั้งอุตสาหกรรม ทั้งรายใหญ่และรายเล็กในต่างจังหวัด เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คิดในปัจจุบันค่อนข้างมาก กับกลุ่มรถใช้แล้ว ก็จะเห็นผลกระทบในกลุ่มรถอายุการใช้นาน เพราะดอกเบี้ยที่คิดจะยิ่งสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างจังหวัดที่มีการปล่อยสินเชื่อรถใช้แล้วค่อนข้างมาก”

สำหรับรถยนต์ใหม่ นายธีรชาติกล่าวว่า ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นสถาบันการเงินประเภทธนาคาร และค่ายผู้ผลิตรถยนต์ (captive finance) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้คิดดอกเบี้ยเกินเพดานกำหนด 10% ต่อปี อย่างไรก็ดี ส่วนที่กระทบจะเป็นกลุ่มที่มีการวางเงินดาวน์ต่ำเฉลี่ย 5-10% และผ่อนยาวมากกว่า 48 เดือน เพราะต้นทุนการเงินสูงกว่าเทอมระยะสั้น

“หากผู้ประกอบการทำแล้วไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับ และไม่สามารถปรับตัวได้ ยิ่งมาเจอกับต้นทุนเด้งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะพวกน็อนแบงก์ต้นทุนจะยิ่งสูงกว่าแบงก์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มนี้จะตัดสินใจขายพอร์ตทิ้ง แม้ว่าพอร์ตเก่ารับรู้รายได้ แต่ไม่มีพอร์ตใหม่เติมเข้ามา ยังไงธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อได้”

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในแง่ผลกระทบอาจต้องรอดูสถานการณ์อีกสัก 3 เดือน ภาพจะเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ระหว่างปรับตัว และปรับโมเดลธุรกิจ เช่น การปรับเครดิตสกอริ่งให้เข้มขึ้น การกำหนดเงินดาวน์ และเลือกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

“โอกาสที่จะเห็นผู้เล่นในตลาดเช่าซื้อจักรยานยนต์ที่ไม่แข็งแรงและไม่สามารถปรับตัวได้ ทั้งในแง่การบริหารต้นทุนและธุรกิจ อาจล้มเลิกกิจการ ตัดขายพอร์ตธุรกิจ หรือมองหาพันธมิตรในลักษณะการร่วมทุน (joint venture) มีมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น และเพดานดอกเบี้ย 23% ทำให้เช่าซื้อจักรยานยนต์กลายเป็นธุรกิจความเสี่ยงสูงผลตอบแทนต่ำ (high risk low return)”

นายมงคลกล่าวว่า สำหรับที ลีสซิ่ง เน้นทำธุรกิจแบบระมัดระวัง มีการพิจารณาความสามารถของลูกค้าและประเภทรถเป็นหลัก ปัจจุบันสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี และแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ดี หากมีผู้ประกอบการ
ในตลาดที่ดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้ และต้องการร่วมมือในลักษณะร่วมทุน เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแรงขึ้น บริษัทก็ให้ความสนใจและไม่ปิดโอกาสพร้อมพูดคุยและพิจารณาต่อไป

“ผลกระทบอาจจะต้องรอ 3 เดือน จึงจะเห็นภาพชัดว่าเจ้าไหนยังแข็งแรง และเจ้าไหนที่เริ่มไม่ไหว ซึ่งดูจากลูกค้าชำระหนี้ การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านเครดิต หาก credit cost เพิ่มสูงขึ้น แต่ผลตอบแทน (yield) ลดลง อันนี้อาจจะหนัก และยิ่งหากเป็นรายเล็กก็มีโอกาสขายพอร์ตออกมา หรือหาผู้ถือหุ้นที่มีความแข็งแรงเข้ามาช่วย”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า น่าจะเห็นผู้ประกอบการที่เคยขายรถจักรยานยนต์และจัดไฟแนนซ์ ปรับไปขายรถและส่งลูกค้าให้สถาบันการเงินแทน เพื่อรับค่าคอมมิชชั่นไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่กว่าจะได้ในอีก 4-5 ปี ระหว่างทางอาจเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จึงเป็นโอกาสของผู้เล่นรายใหม่เข้ามา

“ตอนนี้ภาพสินเชื่อมอเตอร์ไซค์เอ็นพีแอลสูง 30% มาเจอดอกเบี้ย ต้นทุนการเงินแพง แล้วยังมาเจอ สคบ.ให้คิดดอกเบี้ยได้ 23% จากเดิมคิดได้ 36-48% ดังนั้น ผู้เล่นรายเก่าจะถอดใจ แล้วออกจากธุรกิจ และจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทน โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่หน้าเก่าที่เคยสูญเสียส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กลับเข้ามารุกตลาดอีกครั้ง เพราะมองว่าเป็นโอกาส แต่ก็ต้องปรับตัว เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ภายใต้
ดอกเบี้ย 23% โดยการวางระบบวิเคราะห์เครดิต ปรับเงินดาวน์ หมดยุคเด็กที่ไม่มีรายได้ออกรถง่าย”

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารธนาคารทิสโก้ระบุว่า กำลังมองหาโอกาสในการเข้าซื้อพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อ ที่อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ และตัดสินใจขายธุรกิจออกมา

ล่าสุด บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้นสัดส่วนไม่เกิน 10% บริษัท สมใจ 2559 จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และผู้ให้บริการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อที่มีรากฐานทางธุรกิจจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์มากว่า 40 ปี มีสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด