ปักธงเบี้ยประกันปีนี้โต 5% ตามเทรนด์เศรษฐกิจฟื้น

ปักธงเบี้ยประกัน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประเมินเบี้ยรับรวมปี 2566 ขยายตัว 4.5-5% แตะ 2.87 แสนล้านบาท โตล้อเศรษฐกิจไทยฟื้น-แรงส่ง “ภาคท่องเที่ยว-ยอดขายรถยนต์-กำลังซื้อ” ฟื้น

ขณะที่เบี้ยประกันภัยต่อพุ่งหนุนเบี้ยรับ คาดธุรกิจแข่งตัดราคากันน้อยลง หลังหลายบริษัทเจ๊งเคลมโควิดไปแล้ว ขณะที่ “กรุงเทพประกันภัย” ลุยพอร์ตรถอีวี-ขยายประกันรถยนต์ผ่านคู่ค้า ฟาก “ไทยวิวัฒน์ฯ” ดันโฮลดิงส์เข้าตลาดหุ้นไม่เกิน พ.ค.ปีนี้ ตั้งเป้าเบี้ยแตะ 1 หมื่นล้าน ภายในปี’68

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพธุรกิจประกันวินาศภัยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นมา ตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ของปี 2565 จึงคาดการณ์ว่าเบี้ยรับรวมสิ้นปี 2565 น่าจะเติบโต 4%

เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า และประเมินการเติบโตในปี 2566 เบี้ยรับรวมจะขยายตัว 4.5-5% แตะระดับ 2.82-2.87 แสนล้านบาท โดยมีแรงหนุนจากปัจจัยในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยกว่า 20 ล้านคน

อานนท์ วังวสุ
อานนท์ วังวสุ

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ก็เริ่มดูดีขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศกลับมาคึกคัก ประกอบกับภาครัฐยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ แม้ภาคส่งออกไทยจะดรอปกว่าปีก่อนก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทั้งจากอเมริกาและยุโรป

นอกจากนี้ตลาดประกันภัยต่อ (reinsurance market) มีต้นทุนสูงขึ้นจะยิ่งเป็นแรงหนุนให้ภาคธุรกิจมีเบี้ยสูงขึ้นด้วย รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาน่าจะลดลง เนื่องจากบริษัทที่ใช้นโยบายดังกล่าว อย่างอาคเนย์ประกันภัย เดอะวันประกันภัย และ เอเชียประกันภัย ต่างก็ปิดตัวไปแล้ว

ทำให้บริษัทประกันที่เหลืออยู่จะมีความระมัดระวังมากขึ้น ไม่แข่งขันกันจนขาดทุน เพราะบทเรียนในอดีตหรือหลังจากวิกฤตโควิด-19 จะทำให้บริษัทประกันทำธุรกิจแบบระมัดระวังมากขึ้น

“ปีนี้คาดการณ์เบี้ยตลาดประกันรถยนต์จะขยายตัว 5-6% โดยรถอีวีสัดส่วนยังน้อย เพราะยังเป็นช่วงทดลองตลาด แต่ก็ไม่ได้หนักใจต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากตัวแบตเตอรี่ เพราะผู้เข้าไปรับประกันคงมีความระมัดระวังและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่เบี้ยประกันสุขภาพที่ครอบคลุมบริการแบบครบวงจร (comprehensive health insurance) น่าจะเติบโตน้อยลง

จากมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ ที่บังคับห้ามปฏิเสธต่ออายุและยกเลิกกรมธรรม์หากพบเคลมสูง จึงทำให้การรับประกันลูกค้าใหม่ต้องระวังขึ้น มีการปรับเบี้ยแพงขึ้นตั้งแต่ต้นเพราะกลัวขึ้นเบี้ยไม่ได้ ฉะนั้นโปรดักต์ประกันสุขภาพจะหันไปแข่งขายในลักษณะ “เฉพาะโรค” มากขึ้น เพื่อให้อัตราเบี้ยถูกลง โดยคาดการณ์เบี้ยจะเติบโต 10-12%”

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 ผลการดำเนินงานของบริษัทคงเป็นทิศทางที่มีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน

หลังจากช่วงไตรมาส 3/2565 มีเบี้ยรับรวมที่ 7,146.2 ล้านบาท เติบโต 11.7% มีกำไรสุทธิ 981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 210.9% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด-19

 ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน

โดยพอร์ตงานรับประกันที่จะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญคือประกันภัยรถยนต์ที่จะมาจากรถอีวี รวมถึงการขยายพอร์ตรถยนต์ผ่านคู่ค้าหลักต่าง ๆ

ซึ่งเป็นการโยกย้ายงาน หาจุดที่คู่ค้าต่าง ๆ มีความมั่นใจและมั่นคงของธุรกิจ ทำให้จะมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทมีสัดส่วนของเบี้ยประกันทรัพย์สินที่ค่อนข้างสูงจากเบี้ยประกันภัยต่อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จากหลายบริษัทที่ปิดตัวจากผลจ่ายสินไหมเคลมประกันโควิด จะทำให้แต่ละบริษัทประกันที่เหลืออยู่มีแนวโน้มการเติบโตของเบี้ยมากขึ้น เพราะว่าเบี้ยประกันที่เกิดจากการโอนย้ายผ่านคู่ค้าต่าง ๆ มีการต่ออายุกรมธรรม์ต่อเนื่อง กับบริษัทประกันที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI

กล่าวว่า กระบวนการทำคำเสนอซื้อหุ้นและการจัดการของบริษัทให้เป็นรูปแบบ holding company ภายใต้ชื่อบริษัท ไทยวิวัฒน์ โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดภายในเดือน ก.พ. 2566 โดยโฮลดิงส์ได้ออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 303 ล้านหุ้น ราคา 22.20 บาทต่อหุ้น เพื่อแลกหุ้นของ TVI ในอัตรา 1 หุ้นสามัญของ TVI ต่อ 1 หุ้นสามัญของบริษัท โฮลดิงส์

และคาดว่าจะยื่นขอนำหุ้นบริษัท โฮลดิงส์ เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และขอเพิกถอนหุ้น TVI ออกจากตลาดอย่างช้าที่สุดปลายเดือน พ.ค. 2566

“แผนงานในเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกัน เติบโตปีละ 10% โดยปี 2566 ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมทะลุ 8,000 ล้านบาท, ปี 2567 เป็น 9,000 ล้านบาท และในปี 2568 แตะระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งประกันรถยนต์ยังคงเป็นพอร์ตใหญ่

และภายใต้โฮลดิงส์ บริษัทยังคงมุ่งเน้นในการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย 75% เช่น มีแผนร่วมทุนในบริษัท เซอร์เวย์ เป็นต้น นอกจากนี้ สนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล รวมถึงกำลังพยายามดึงผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ เข้ามาอยู่กับบริษัทมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 ปีแรก รายได้หลักยังคงมาจากไทยวิวัฒน์ฯ 90%”